สัมภาษณ์อย่างไร ให้ได้งาน

สัมภาษณ์อย่างไร ให้ได้งาน

การสัมภาษณ์งาน อาจเป็นเรื่องที่ดูยาก สำหรับบางคน

โดยเฉพาะกับหนุ่มสาวที่เข้าสู่วัยทำงาน

อาจดูเป็นเรื่องใหม่ เรื่องที่ไม่เคยสัมผัส

จึงมักจะเกิดความกลัว ความกังวล ความประหม่า คิดไปต่างๆ นาๆ

บางคนก่อนวันสัมภาษณ์อาจถึงกับนอนไม่หลับเลยก็มี

ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกๆคน ต้องเคยเผชิญ 

 

แม้ในบางบริษัท จะเป็นสไตล์ง่ายๆ เป็นกันเองสูง

ไม่จำเป็นต้องมีโปรไฟล์อะไรมากมาย

แต่เราก็มักจะเกิดความประหม่าอยู่ดี

โดยเฉพาะผู้ที่ยังมีประสบการณ์น้อย

หรือนักศึกษาจบใหม่ ที่กำลังหางานทำ

มาดูกันเลยดีกว่า ว่าสัมภาษณ์อย่างไร ให้ได้งาน

 

1.ต้องลดความตื่นเต้นให้ได้

ความตื่นเต้นจะแปรผันตามการเตรียมตัวของเรา

ยิ่งเราเตรียมตัวมากเท่าไร เรายิ่งตื่นเต้นน้อยเท่านั้น

สาเหตุมาจากความกลัวและความกังวลที่เกิดขึ้น

เรามักจะคิดไปต่างๆ นาๆ อาทิ เช่น

จะได้งานนี้ไหมนะ จะสัมภาษณ์ผ่านหรือเปล่า

ถ้าไม่ผ่าน ชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

หรือถ้าผ่าน จะได้เงินเดือนเท่าไร

ความก้าวหน้าจะดีไหมนะ หัวหน้าจะใจดีไหม

จะเจอเพื่อนร่วมงานแย่ๆ หรือเปล่า ฯลฯ สิ่งกวนใจเหล่านี้

มักจะทำให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นมากจากปกติ ให้ตัดเรื่องพวกนี้ทิ้งซะ

 

2.เปิดประตูเข้ามา ในฐานะ “ผู้ให้” ไม่ใช่ “ผู้รับ”

“คิดก่อนว่าเราจะให้อะไรเขาได้ ไม่ใช่ว่าเราจะได้งานนั้นหรือเปล่า”  

ถ้าเราไปในฐานะผู้ให้ เราจะไม่ตืนเต้น

เพราะเราจะรู้แก่ใจเลยว่าเราเป็นคนมีความสามารถนะ

และเรามาเพื่อให้ มาเพื่อสร้างสิ่งที่ดี ทำให้บริษัทมันดีขึ้นได้

คุณจะเอาไหมล่ะ ถ้าเอาก็ดี ถ้าไม่เอาก็ไม่เป็นไร

เพราะความสามารถเราก็ไม่ได้หายไปไหน

เอาสิ่งดีๆ ที่เรามีนี่แหละมาเสนอให้กับเขา

แต่ถ้าไปในฐานะผู้รับ เราจะตื่นเต้นมาก

เกิดจากการคาดหวัง ว่าเราจะได้มั้ย

ถ้าไม่ได้จะทำยังไง จะกินอะไร จะไปที่ไหนต่อ

เกิดความกังวล สารพัดขึ้นในจิตใจ

 

3.ลดความตื่นเต้น ด้วยการซักซ้อมการสนทนา

เพราะตอนตื่นเต้น เราอาจคิดอะไรไม่ออก ลืมคำตอบที่เตรียมมา

จึงต้องซักซ้อม กับตัวเอง กับเพื่อน

หรือคนใกล้ชิดก็ได้ อย่าใช้คำพูดที่ออกมาจากสมอง

แต่จงพูดออกมาจากหัวใจ จากจิตวิญญาณของเราเอง

คราวนี้แม้จะลืมคำตอบ แต่การที่เราเตรียมตัวมาดีมากๆ

ซักซ้อมมาบ่อยๆ จะทำให้เราไปต่อได้เอง

 

4.เวลาตื่นเต้น สิ่งที่ช่วยได้มากคือ การสูดลมหายใจให้ลึกและยาวที่สุด

นักจิตวิทยาบอกว่า การสูดหายใจให้ลึก และยาวที่สุด 10 ครั้ง

จะทำให้ร่างกายของเราหลั่งสารเอนโดรฟินออกมา

ช่วยให้เรามีความสุข ยิ้มได้ ไม่ตื่นเต้น

 

5.ศึกษาจนรู้ว่าที่นี่เขาต้องการอะไร

ก่อนสมัครงานที่ไหนเราก็ต้องหาข่าวอยู่แล้วใช่มั้ย

ต้องรู้ว่าเขาอยากได้คนประเภทไหน

แล้วเราใช่คนแบบนั้นหรือเปล่า

อย่างเช่นต้องการคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เราใช่คนแบบนั้นไหม

ถ้าใช่ จงแสดงให้เห็นถึงตัวตนที่เราเป็น จะทำให้บริษัทเขาดีขึ้นได้อย่างไร

ให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้ ดึงคุณค่าของตัวเองขึ้นมา

แต่ถ้าไม่ใช่ อย่าโกหก และอย่าหลอกตัวเอง เพราะนั่นคือการ

ทำร้ายทั้งตัวเรา และบริษัท แม้ได้เข้าทำงาน แต่เราก็อยู่ได้ไม่นานอยู่ดี

 

6.แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น กล้าหาญ จริงจัง และรับผิดชอบในงานที่ทำ

จงเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง

คนที่ไม่มั่นใจ นั้นบ่งบอกถึง EQ ที่ต่ำ

ต่อให้เก่งก็ไม่มีใครอยากรับ

เพราะคนไม่มั่นใจมักจะเป็นผู้นำของตัวเองไม่ได้

มีอะไรก็จะต้องพึ่งพาคนอื่นเสมอ มักทำตัวมีปัญหา

เหลาะแหละ เป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหาชีวิตเยอะ

อาจถึงกับขาดงานบ่อยๆ ส่งผลกระทบต่องานได้

 

7.สัมภาษณ์งานบ้านเรา ความถ่อมตัวต้องมาก่อน

ทั้งนี้ก็ทำตัวให้เป็นธรรมชาติ วางตัวเป็นกันเอง อย่าไปเกร็ง

อย่าไปเครียด อย่ากดดันตัวเอง (เรายังไม่ใช่ลูกน้องเขาสักหน่อย)

แม้ต้องถ่อมตัวแต่ไม่ถึงกับต้องบรรจงไหว้งดงาม จนมือเกร็งไปหมด

การมีมารยาท เป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องอยู่ในความพอดี

 

8.บุคลิกภาพ ก็สำคัญไม่แพ้กัน

บุคลิก ทรงผม เสื้อผ้า จะแสดงถึงความน่าเชื่อถือ แม้เราจะเก่งจริง

แต่รูปลักษณ์ภายนอกดูไม่ดี ดูโทรม ไม่ดูแลตัวเอง แต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ

ก็อาจส่งผลให้บริษัทรู้สึกว่าเราไม่เหมาะสมกับงานได้

 

ขอส่งท้ายด้วย หัวใจของการสัมภาษณ์งาน

คนเราแทบทุกคน มักตัดสินคนอื่น ตั้งแต่ 1 นาที ที่พบกันครั้งแรก

และมีคนแค่ 2 ประเภท ที่สร้างความประทับใจแรกพบได้ นั่นคือ

1.คนมีความสุข ตลก อัธยาศัยดี เดินเข้ามาด้วยรอยยิ้ม ทักทายเป็นกันเอง

เราจะสัมผัสได้เลยว่าบรรยากาศรอบๆ เต็มไปด้วยความสุข

2.คนฉลาด มีไหวพริบ และมีความรู้ บางคนถึงกับต้องอุทานในใจเลยว่า เห้ย เจ๋งหวะ

cr.ขุนเขา