เปิดราคา "ที่พัก" ผู้สูงวัย-คนใกล้เกษียณ องมีเงินเก็บเท่าไหร่ถึงจะจับจองได้ เพื่อนเยอะ อยู่สบายไม่ต้องกลัวเหงา!

        ปัจจุบันประเทศไทยถือว่า เข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยแล้ว โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า จำนวนประชากรสูงอายุหรือผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เมื่อสิ้นปี 2561 ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 10.25 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 16.8 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด

        เป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณ ให้ความสำคัญในการดูแลประชากรกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มคนแก่ที่ยากจนนั่นเอง

        แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มคนสูงวัยที่มีกำลังซื้อสูง ก็เป็นตลาดที่น่าจับตามอง และมีความน่าสนใจ ดึงดูดการลงทุนได้ไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะการลงทุนด้านธุรกิจบ้านพักของผู้สูงวัย

        บ้านพักของผู้สูงวัยที่ถือว่า เป็นโครงการต้นแบบ ก็คือ สวางคนิเวศ ของสภากาชาดไทย ปัจจุบันมี 2 ทำเล จุดแรกเริ่มที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2539 โครงการที่ 2 อยู่ที่บางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยเป็นโครงการที่พักอาศัยของผู้สูงอายุที่มีฐานะปานกลาง 

        เงื่อนไขการเข้าอยู่ นอกจากจะต้องมีฐานะพอสมควร คือ มีเงินซื้อห้องพักตลอดชีพในราคาประมาณ 1.2 ล้านบาทแล้ว จะต้องมีเงินสำรองอีกประมาณ 10,000 บาท ต่อเดือน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าส่วนกลางเดือนละ 2,500 บาท ค่าน้ำค่าไฟประมาณ 1,500 บาท ค่าอาหารเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท นอกจากนี้ ต้องเตรียมสำหรับรองรับค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วย รักษาพยาบาล

       อย่างไรก็ตาม สวางคนิเวศมีสิทธิประโยชน์ให้สมาชิก โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะมาตรวจสุขภาพประจำปีให้ฟรี มีบริการห้องพยาบาลฟรี มีนักกายภาพบำบัดประจำ มีบริการรถตู้ไปโรงพยาบาล มีพยาบาลประจำดูแล ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็สามารถช่วยเหลือเบื้องต้น หรือนำส่งโรงพยาบาลได้ แต่ต้องชำระค่าบริการเอง เรียกว่า อำนวยความสะดวกในเรื่องสุขภาพที่จำเป็นสำหรับผู้สูงวัย ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็มีบริการเทียบเท่าโรงแรม เช่น มีร้านอาหาร มีเครื่องซักผ้า บริการทำความสะอาดห้องพัก บริการรถกอล์ฟภายในสวางคนิเวศ เรียกว่า สะดวกสบาย มีปัจจัยเอื้ออำนวยที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแล

        ดังนั้น กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของสวางคนิเวศ กว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นข้าราชการเกษียณ มีเงินบำนาญสำหรับใช้จ่าย และที่สำคัญคือ เป็นสาวโสดสูงอายุที่ไม่มีครอบครัว

        ในฟากของบริษัทเอกชนก็มีการทำโครงการที่พักอาศัยเจาะกลุ่มผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนยูนิตสำหรับคนแก่เข้าสู่ตลาดไม่ถึง 4,000 ยูนิต ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีเพิ่มมากขึ้น

โดยเท่าที่สำรวจ ได้แก่ 

        1. โครงการวิลล่า มีสุข เรสซิเดนท์เซส จังหวัดเชียงใหม่ มีเพียง 34 ยูนิต เป็นบ้านเดี่ยว 6 หลัง และคอนโดมิเนียม 3 ชั้น อีก 28 ยูนิต ขายในราคาที่ค่อนข้างสูง คือ 3.4-5.5 ล้านบาท

      2. โครงการ แสนสรา แอท แบล็กเมาน์เท่น อยู่ที่หัวหิน พื้นที่ 13.2 ไร่ เป็นวิลล่า 13 ยูนิต และคอนโดมิเนียม 30 ยูนิต ซึ่งเป็นบ้านที่ให้บริการในลักษณะเช่าระยะยาว 30 ปี ราคาขายเริ่มต้นที่ 8 ล้านบาท

        3. โครงการปัยยิกา จังหวัดปทุมธานี ห้องชุดพักอาศัย 62 ยูนิต

        4. โครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง คอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ 7 ชั้น 1,300 ยูนิต

        5. โครงการเวลเนสซิตี้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พื้นที่ 1,200 ไร่ เป็นบ้านเดี่ยว 70 หลัง โรงแรม 2 อาคาร อาคารละ 79 ยูนิต คอนโดมิเนียม 3 อาคาร อาคารละ 20 ยูนิต

        6. โครงการกมลา ซีเนียร์ ลิฟวิ่ง จังหวัดภูเก็ต ห้องชุด 200 ยูนิต วิลล่า 30 ยูนิต

        7. โครงการ ซีเนียร์คอมเพล็กซ์ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 72 ไร่ 1,000 ยูนิต

        เห็นราคาก็รู้แล้วว่า โครงการส่วนใหญ่จับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุที่มีฐานะดี มีเงินเก็บหลังเกษียณหลายล้าน ถึงจะสามารถซื้อหาที่พักอาศัยเหล่านี้ได้

        ส่วนกลุ่มสูงอายุที่ระดับรายได้ปานกลาง ก็จะมี การเคหะแห่งชาติ (กคช.) รับผิดชอบดูแลเรื่องการจัดหาที่พักอาศัยสำหรับคนแก่กลุ่มนี้ โดยที่ผ่านมา กคช. นำโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวนหนึ่งมาดำเนินการปรับปรุงเป็นโครงการผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่ง คุณธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการ กคช. เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาได้นำส่วนหนึ่งของโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดหลุมแก้ว ซึ่งมีอยู่ 16 ตึก จำนวนกว่า 1,000 ยูนิต มาทำเป็นซีเนียร์คอมเพล็กซ์ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี เพราะล่าสุด กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้ขอซื้อยกล็อต เพื่อให้ข้าราชการเกษียณมาอยู่อาศัย และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

        “ทาง กคช. จะขออนุญาตนิติบุคคลอาคารชุด เพื่อดัดแปลงพื้นที่และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัยให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ ทั้งภายในห้องพักและรอบบริเวณโครงการ โดยจะมีการจัดโซนนิ่งแยกส่วนกันระหว่างผู้อยู่อาศัยทั่วไปและผู้สูงวัย โดยภายในพื้นที่นอกจากจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ยังมีการสร้างศูนย์ดูแลสุขภาพ มีสโมสรคลับเฮ้าส์ ห้องหรือลานทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ด้วย แต่ละที่จะจัดให้มีผู้ดูแล ซึ่งการดำเนินการของ กคช. จะได้เปรียบกว่าของเอกชน เพราะสามารถร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุโดยตรงคือ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีการประสานกับโรงพยาบาลในการจัดตรวจสุขภาพทุกสัปดาห์

        คุณนพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการ กคช. เล่าว่า กคช. จะเน้นเจาะกลุ่มระดับรายได้ปานกลางเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ประมาณ 40,000 บาท ต่อเดือน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันครอบครัว โดยบุตรหลานมีโอกาสได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ดูแลบุพการี และผู้สูงอายุ จึงมีไอเดียจัดทำบ้านเคหะกตัญญูเป็นโครงการนำร่อง

        ประเดิมที่โครงการคลองหลวง 1 ถนนเลียบคลอง 4 จังหวัดปทุมธานี โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ เฟสแรกเป็นบ้านแฝดชั้นเดียว และ 2 ชั้น ปัจจุบันเปิดขายแล้ว โดยโครงการนี้เน้นสำหรับลูกที่ซื้อให้พ่อแม่อยู่อาศัย หรือจะอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ รวมทั้งสำหรับคนที่ต้องเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยชรา จำนวน 192 ยูนิต ราคาขาย 2.33-3.34 ล้านบาท ขายได้แล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

        ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นอาคารชุด 4 ชั้น จำนวน 168 ยูนิต ยังไม่กำหนดช่วงเปิดขาย

        “การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยจะต้องออกแบบที่ให้ทุกคนอยู่ได้ใช้งานง่าย โดยคำนึงถึงความปลอดภัย เอื้อประโยชน์ต่อการใช้สอย เน้นพื้นที่สีเขียว พื้นที่หรืออาคารสันทนาการ สระว่ายน้ำ ห้องฟิตเนส ห้องปฐมพยาบาล ห้องซีซีทีวี รั้วสูง 2 เมตร และเพิ่มรั้วโปร่งอีก 1 เมตร มี รปภ. รักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง และที่สำคัญ จะมีการติดตั้งเทเลเฮลท์หรือเครื่องขอความช่วยเหลือไว้ 2 จุด คือในห้องน้ำและห้องนอน ซึ่งหากผู้อยู่อาศัยมีปัญหาก็สามารถกดปุ่มเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือมายังส่วนกลาง ขณะเดียวกัน โครงการก็ได้ทำเอ็มโอยูกับสถานพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อรักษาพยาบาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนกลางในโครงการนั้นจะไม่แพงคือ ประมาณ 2,000-3,000 บาท ต่อเดือน”

        แต่ถึงกระนั้น ปริมาณที่พักสำหรับผู้สูงวัยในปัจจุบัน ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่คาดว่าจะสูงมาก ดูจากข้อมูลผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเพิ่มเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ในอีก 10 ปีถัดมา

เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นทุกวันๆ