โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ มีอะไรบ้าง

 โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ มีอะไรบ้าง แล้วเกิดจากอะไร รักษาได้ไหม ลองรู้จักอาการเหล่านี้ให้มากขึ้น

          ผิวหนังเป็นเนื้อเยื่อส่วนนอกสุดของร่างกายที่ห่อหุ้มโครงสร้างและอวัยวะทุกอย่างไว้ ซึ่งในแต่ละบริเวณจะมีความหนา-บางแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ต้องรองรับ และถูกเสียดสี ผิวหนังของเราแบ่งเป็น 2 ชั้นใหญ่ ๆ คือ

          1. ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) เป็นชั้นที่อยู่บนสุด บางและหลุดลอกออกไปได้ง่าย หรือที่เรียกว่าขี้ไคลนั่นเอง ในชั้นนี้จะไม่มีเลือดและเส้นประสาทหล่อเลี้ยงครับ แต่มีเซลล์ที่ชื่อ เมลาโนไซด์ (Melanocyte) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ที่ทำให้แต่ละคนมีสีผิวที่แตกต่างกันออกไป

          2. ชั้นหนังแท้ (Dermis) เป็นชั้นที่อยู่ลึกถัดจากชั้นหนังกำพร้าลงมา มีความหนากว่าชั้นแรกมาก เป็นที่อยู่ของเซลล์ ต่อม หลอดเลือด และระบบประสาทที่มาหล่อเลี้ยง


โรคผิวหนัง

          หน้าที่ของผิวหนังนอกจากปกป้องอวัยวะภายในไม่ได้ได้รับอันตรายแล้ว ยังมีความสำคัญในการรักษาระดับอุณหภูมิร่างกาย ขับของเสียออกทางเหงื่อ รับความรู้สึกสัมผัสต่าง ๆ ทั้งยังมีส่วนช่วยในการสร้างวิตามินดี และป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอีกด้วย

          ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผิวหนังของเรามีได้หลายอย่างครับ สำหรับวันนี้จะกล่าวถึงโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นกับระบบผิวหนัง ซึ่งมีด้วยกันหลายโรคตามตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อ โดยเชื้อที่ก่อโรคมี 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ แบคทีเรีย รา และไวรัส


ชั้นผิวหนัง


1.โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

          อันที่จริงแล้วผิวหนังของคนเราก็มีเชื้อแบคทีเรียอาศัยอยู่นะครับ เรียกว่าเป็นเชื้อประจำถิ่น (Normal Flora) ซึ่งโดยปกติจะไม่ทำให้เกิดโรคครับ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพของผิวหนังไปจากเดิม เช่น มีบาดแผล มีโรคผิวหนังอื่น ๆ อยู่ก่อน สุขอนามัยไม่ดี หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เชื้อเหล่านี้ก็มีโอกาสทำให้เกิดโรคได้ ตัวที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ Staphylococcus aureus และ Staphylococcus pyogenes โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่พบมาก ได้แก่

          แผลพุพอง (impetiongo)

          เป็นการติดเชื้อของชั้นหนังกำพร้า ส่วนใหญ่เกิดจากสุขอนามัยไม่ดี หรือละเลยบาดแผลเล็ก ๆ จะลุกลามจึงพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่วนมากบาดแผลเกิดขึ้นที่ใบหน้าบริเวณรอบจมูก เนื่องจากการแกะ เกา และตามแขน-ขาทั่วไป เริ่มแรกเป็นเพียงผื่นแดงเล็ก ๆ มีอาการคัน แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส เมื่อแตกออกพื้นแผลจะเป็นสีแดง มีน้ำเหลืองไหล พอแห้งจะตกเป็นสะเก็ดเหลืองเกาะที่แผล ถ้าเกิดที่หนังศีรษะมีชื่อเรียกว่าชันนะตุ หากปล่อยไว้นานแผลอาจลุกลามขยายใหญ่ขึ้น หรือกินลึกลงไปมากขึ้น และเข้าสู่กระแสเลือดได้

          การรักษา เริ่มต้นด้วยการล้างทำความสะอาดบาดแผล และใช้ยาทาฆ่าเชื้อ Mupiroxin ประมาณ 7-10 วัน ก็เพียงพอ แต่หากบาดแผลกว้างและลึกมาก อาจต้องใช้ยา Dicloxacillin รับประทานร่วมด้วย

           รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis, Furuncles Carbuncler)

          เป็นการติดเชื้อของรูขุมขนจนเกิดเป็นผื่นแดง ไม่มีอาการหรืออาจคัน หรือเจ็บเล็กน้อย พบได้ในบริเวณที่มีต่อมขนเยอะ เช่น หนวด เครา รักแร้ เป็นต้น ส่วนมากมักจะหายเอง แต่บางครั้งอาจเกิดการอักเสบมาก จนเป็นตุ่มหนอง แดงและเจ็บ เมื่อแตกออกจะมีหนองไหลออกมาได้ เรียกว่าฝี (Furuncles) ถ้าแผลลึกและกว้างมากจนมีรูหนองที่เชื่อต่อกันหลาย ๆ รู เรียกว่า Carbuncles หรือฝีฝักบัวนั่นเอง ซึ่งมักจะมีใช้ร่วมด้วย เนื่องจากการอักเสบที่มากขึ้น

          การรักษา ในขั้นต้นหากมีอาการ ให้ใช้ยาทาฆ่าเชื้อ 1% Clindamycin ทาบริเวณแผลวันละ 2-3 ครั้ง สำหรับ Furuncies และ Carbuncles จำเป็นต้องผ่าระบายหนองออก และใช้ยา Dicloxacillin รับประทานร่วมด้วย

           ไฟลามทุ่ง (Erysipelas)

          เป็นการอักเสบของผิวหนังร่วมกับหลอดน้ำเหลือง เริ่มจากตุ่มแดงแล้วกระจายลามออกไปอย่างรวดเร็วแผลมีสีแดงจัด กดเจ็บ ผิวบริเวณนั้นยกขึ้นมาจากบริเวณที่ปกติอย่างชัดเจน ผู้ป่วยจะมีใช้ร่วมด้วย

          การรักษา รับประทานยา Dicloxacillin ประมาณ 5-7 วัน ร่วมกับการประคบร้อน

           ผิวหนังอักเสบ (Cellulitis)

          เป็นการอักเสบของเนื้อเยื่อชั้นหนังแท้และลึกลงไปยังชั้นได้ผิวหนัง ลักษณะเป็นผื่นแดงจัด ลามอย่างรวดเร็ว กดเจ็บและออกร้อน แยกจากไฟลามทุ่งได้จากขอบเขตที่ไม่ชัดเจน มักพบว่ามีอาการใช้และต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย พบได้บ่อยในรายที่ประสบอุบัติเหตุ ผู้ป่วยเบาหวาน อ้วน หรือติดสุรา

          การรักษา รับประทานยา Dicloxacillin ประมาณ 5-7 วัน ร่วมกับการประคบร้อน

          ข้อควรระวัง ไฟลามทุ่งและโรคผิวหนังอักเสบ เป็นโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้น เชื้อจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์


กลาก

กลากที่ง่ามเท้า


2.โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา

          เชื้อราเป็นเชื้ออีกกลุ่มที่พบได้ทั่วไปในทุกภูมิอากาศ แต่มักก่อโรคในสภาวะที่อับชื้น และพบได้มากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือกินยาปฏิชีวนะนาน ๆ หรือเป็นเบาหวาน เป็นต้น โรคติดเชื้อผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราที่รู้จักและเป็นกันมาก ได้แก่

           กลาก

          ธรรมชาติของราชนิดนี้มักเกิดขึ้นในบริเวณที่มีเคอราติน ซึ่งเป็นโปรตีนโครงสร้างชนิดหนึ่ง พบที่ ผิวหนัง เล็บ ขน และผม อาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่ติดเชื้อ อาทิ

          - กลากที่ผิวหนัง เช่น ลำตัว แขน ขา รักแร้ ขาหนีบ ผื่นจะเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ แล้วขยายวงกว้างออกเรื่อย ๆ ขอบนูนแดง มีขุยสีขาว คันมาก

          - กลากที่ง่ามเท้า เรียกว่าฮ่องกงฟุต หรือน้ำกัดเท้า ผิวหนังบริเวณนั้นจะเป็นแผ่นขาวยุ่ย ลอกออกเป็นแผ่นได้ส่งกลิ่นเหม็นและคันมาก

          -  กลากที่เล็บ มักเกิดบริเวณข้างเล็บเข้ามา จะเห็นเป็นสีน้ำตาล หรือขาวขุ่น ด้าน ขรุขระ หรืออาจเปื่อยยุ่ยได้ ไม่มีอาการเจ็บหรือคัน แต่มักเป็นเรื้อรัง

          -  กลากที่หนังศีรษะ ผื่นเป็นวงเหมือนที่เกิดตามลำตัว แต่พบร่วมกับอาการผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เส้นผมหัก ซึ่งเกิดจากเชื้อราทำลาย

          การรักษา สำหรับแผลเฉพาะที่เพียงใช้ยาฆ่าเชื้อทาจนแผลหาย อาจจะประมาณ 4-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อ แต่ถ้าแผลกว้างมาก เป็นหลายจุด หรือผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจใช้วิธีรับประทานยาฆ่าเชื้อแทน


กลาก

กลาก


          เกลื้อน

          เชื้อราชนิดนี้โดยปกติอาศัยอยู่ที่รูขุมขนของทุกคน โดยได้ไขมันจากรูขุมขนเป็นอาหาร ต่อเมื่อภูมิต้านทานลดลง จึงทำให้เกิดโรค โดยมีลักษณะเป็นต่างขาว มีขุยขอบเขตชัดเจน หรือบางคนอาจเป็นสีเข้มขึ้นก็ได้ แต่มักไม่มีอาการอื่น บริเวณที่พบมาก ได้แก่ ส่วนที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า คอ หน้าอก หลัง

          การรักษา มีทั้งยาทา ยาสระหรือสบู่ ใช้แค่ 3-5 วัน และซ้ำทุกเดือน รวมไปถึงยากินในรายที่มีอาการมาก และต้องใช้อย่างต่อเนื่องจนครบกำหนด แต่ด่างขาวที่เกิดขึ้นอาจต้องรอจนเซลล์ผิวสร้างเม็ดสีขึ้นมาใหม่ จึงจะหายไป ถึงแม้ว่าเชื้อจะถูกกำจัดไปหมดแล้วก็ตาม

          การป้องกัน วิธีที่ดีที่สุดคือ การหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ต้องแยกเสื้อผ้ารวมทั้งอุปกรณ์ของใช้ออกจากผู้อื่นเพื่อป้องกันการติดต่อ

เริมที่ปาก

เริม

3.โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อไวรัส

          ไวรัสเป็นเชื้อกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในทุกระบบ รวมไปถึงการติดเชื้อที่ผิวหนัง เชื่อว่าหลายท่านคงเคยเป็น หรือมีคนใกล้ตัวเป็นโรคเหล่านี้กันบ้างแน่ ๆ และไม่ต้องแปลกใจนะครับ หากพบว่าเป็นโรคเหล่านี้อยู่บ่อย ๆ เพราะเป็นธรรมชาติของไวรัส ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับเชื้อมาแล้วจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อตัวเชื้อเพื่อพยายามกำจัด และปกป้องตนเองไม่ให้เป็นโรค แต่ตัวเชื้อก็จะยังคงหลบซ่อนและอาศัยอยู่ในร่างกายนี่ล่ะครับ จนวันดีคืนดีเมื่อภูมิต้านทานต่ำลงก็จะเกิดอาการของโรคขึ้นมาได้ โรคติดเชื้อผิวหนังจากเชื้อไวรัสที่สำคัญ ได้แก่

           เริม (Herpes Simplex)

          เชื้อเริมเป็นตัวอย่างที่ดีครับว่าสามารถเป็นได้อยู่บ่อย ๆ ถ้าร่างกายอ่อนแอลง เช่น อดนอน ทำงานหนัก เครียด เชื้อนี้มีด้วยกัน 2 ชนิด มักทำให้เกิดอาการในบริเวณที่แตกต่างกันคือ

          -  เชื้อชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Vinus2) มักเกิดบริเวณปากและผิวหนังเหนือสะดือขึ้นไป ถ้าเกิดที่ปากเรียกว่า Herpes Labialis ไม่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ติดจากการดื่มน้ำหรือทานอาหารร่วมกัน

          -  เชื้อชนิดที่ 2 (Hepes Simplex Virus2) มักเกิดบริเวณอวัยวะเพศ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

          ลักษณะของแผลเริมคือ เป็นตุ่มน้ำพองใสเล็ก ๆ ขึ้นเป็นกลุ่ม เมื่อแตกออกจะเป็นแผลตื้น ๆ อยู่บนฐานสีแดง เจ็บและแสบมาก โดยปกติโรคจะดำเนินไปจนหายเองภายใน 10 วัน แต่มีโอกาสเกิดซ้ำถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจใช้ยา Acyclovir รับประทานต่อเนื่อง 1 สัปดาห์

งูสวัด

งูสวัด

           งูสวัด (Herpes Zoster)

          เชื้อก่อโรคคือ Hepes Varicella Zoster คือเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส แผลที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะเดียวกันคือตุ่มพองใสบนฐานแดง ขึ้นชิดกัน มักกลายเป็นหนองแห้ง และตกสะเก็ดภายใน 10 วัน ลักษณะที่ต่างจากสุกใส คือ ผื่นจะขึ้นเป็นแนวตามแนวของเส้นประสาท มีไข้ และอ่อนเพลียร่วมด้วย หลายคนถามว่าจริงหรือไม่ ที่บอกว่า ถ้างูสวัดพันครบรอบแล้วจะเสียชีวิต ก็อาจเป็นได้นะครับ เพราะภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยต้องต่ำมากจริง ๆ เชื้อถึงแพร่กระจายเร็ว

          การรักษา รับประทานยา Acyclovir ตามแพทย์สั่ง

          หูด (Wart)

          หูดคือก้อนที่ผิวหนัง อาจจะผิวเรียบ หรือขรุขระ สีขาว ชมพู หรือน้ำตาล เกิดขึ้นบริเวณใดก็ได้ แต่มักพบบ่อยที่นิ้วมือ แขน ขา เกิดจากเชื้อ Human Papilloma Vinus หูดมีลักษณะที่ต่างกันออกไปในแต่ละชนิด คือ

          -  Verrucus Vulgairs หูดธรรมดา เป็นเม็ดเดียว หรือหลายเม็ด ขรุขระ กระจายทั่วไป มักพบบ่อยที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า

          -  Verrucus Plana หูดราบ เป็นเม็ดผิวแบนราบ สีเดียวกับผิวหนัง มักพบที่บริเวณใบหน้า

          -  Condyloma Accuminata หูดหงอนไก่ เป็นติ่งเนื้อนุ่ม สีชมพู พบที่อวัยวะเพศ

          - Plantar Wart เป็นเม็ดแข็ง ขึ้นที่ได้ฝ่าเท้า

          - Filitorm and Digitate Wart เป็นติ่งยื่นออกจากผิวหนัง พบบ่อยที่คอและใบหน้า

          การรักษา มีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดของหูด แต่ที่พบบ่อยที่สุดอย่าง Verrucus Vulgaris มักรักษาด้วยการจี้ด้วยกรดซาลิไซลิก จี้ไฟฟ้าหรือผ่าตัดออก

          ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือโรคผิวหนังอักเสบชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อครับ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชนิดใด หลักการสำคัญในการป้องกันก็คือ หมั่นดูแลรักษาสุขอนามัยของผิวหนังให้สะอาดอยู่เสมอ และที่สำคัญมากกว่านั้น ก็คือ หากพบว่ามีแผล หรืออาการผิดปกติของผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที ไม่ควรปล่อยให้เชื้อลุกลาม เพราะจะทำให้การรักษายากขึ้น หรืออาจเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่อง รท.นพ.สรวิชญ์ สุบุญ