ระวัง! หอยดิบ พาหะเชื้อโรคไข้ปวดหัวหอย-พยาธิปอดหนู

อาหารประเภทยำ เมนูอีสานทั้งหลายแหล่ มักใช้ส่วนประกอบที่ไม่ผ่านความร้อน หรือผ่านความร้อนน้อยมาก บ้างก็ว่าใช้กรดจากมะนาวในการทำให้สุก แต่ถึงกระนั้นกรดจากมะนาวสดก็ไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อโรคหลายชนิดที่มากับเนื้อสัตว์ดิบๆ ได้
ใครที่ชอบทานเมนูหอยดิบ ยำหอยสด ต้องระวังโรคที่มากับพยาธิอย่าง โรคไข้ปวดหัวหอย และพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง

โรคไข้ปวดหัวหอย พยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง คืออะไร?
โรคไข้ปวดหัวหอย พยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิปอดหนู เป็นพยาธิของหนูที่คนติดโรคโดยบังเอิญ จากการกินตัวอ่อนพยาธิชนิดนี้เข้าไป และไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรเป็นตัวเต็มวัยในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ตัวอ่อนพยาธิจะไปอาศัยอยู่ในระบบประสาทส่วนกลางของผู้ติดโรค ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง

สาเหตุของโรคไข้ปวดหัวหอย พยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง
พาหะแพร่เชื้อโรคไข้ปวดหัวหอย พยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่งในธรรมชาติ ได้แก่ หอยต่างๆ เช่น หอยบก หอยน้ำจืด (หอยโข่ง หอยเชอรี่ หอยขม) และทาก เป็นต้น  เมื่อคนกินหอยดิบ ก็สามารถมีตัวอ่อนระยะติดต่อได้ รวมถึงในผัก และพืชผักต่างๆ ที่หอยทากคลานผ่านก็มีโอกาสปนเปื้อนตัวอ่อน และเป็นแหล่งแพร่โรคได้เช่นกัน
ในประเทศไทยส่วนมากเกิดจากการกินหอยโข่งดิบ หอยเชอรี่ดิบ และหอยทาก โดยนำเนื้อหอยเหล่านี้ไปปรุงเป็นลาบดิบ หรือปนเปื้อนในดินติดไปกับผัก เช่น ผักกาดสด คนกินกับอาหารประเภทยำ ลาบ เป็นต้น

การติดต่อแพร่เชื้อโรคไข้ปวดหัวหอย พยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง
โรคไข้ปวดหัวหอย พยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน คนติดโรคพยาธินี้ได้โดยรับตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะติดต่อ จากการกินหอยดิบ

อาการของผู้ที่เป็นโรคไข้ปวดหัวหอย พยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง
ผู้ป่วยที่ติดโรคจะปวดหัวอย่างรุนแรง เป็นไข้  อาเจียน คอแข็ง ตาพร่ามัว ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ  แต่ถ้ามีการติดโรคอย่างรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้

วิธีป้องกันโรคไข้ปวดหัวหอย พยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง
  1. รับประทานแบบ “สุก ร้อน สะอาด” โดยหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ปรุงไม่สุกด้วยความร้อน
  2. ล้างทำความสะอาดผักในบริเวณที่มีหอยทากคลานผ่านก่อนรับประทาน หรือรับประทานเฉพาะผักที่ลวกหรือต้มสุกแล้วเท่านั้น
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่สะอาดและไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยอาศัยอยู่