3 เรื่องที่คนฐานภาษี 5% ต้องคิด ก่อนติดกับดักช้อปช่วยชาติ 2560

   ช้อปช่วยชาติ 2560 ช่วยประหยัดภาษีได้แค่ไหน คุ้มค่าไหมสำหรับคนเงินเดือน 3-4 หมื่น ที่เสียภาษีแค่ 5%

          พอได้ยินข่าวคณะรัฐมนตรีไฟเขียว "ช้อปช่วยชาติ 2560" หลายคนคงวางแผนกันยกใหญ่ว่าจะซื้ออะไรดีในช่วงนาทีทองของการช้อปปิ้งลดหย่อนภาษี (11 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2560) แต่ช้าก่อน ! ช้อปช่วยชาติอาจเป็นกับดักสำหรับคนที่ไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีฐานน้อย ๆ ก็เป็นได้

          โดยเฉพาะคนที่เสียภาษีในฐาน 5% คือมีเงินเดือนมากกว่า 25,833 บาท หรือมีเงินได้สุทธิทั้งปีมากกว่า 150,001 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 300,000 บาท คำนวณแล้วก็ต้องเป็นคนที่ได้เงินเดือนราว ๆ 3-4 หมื่นบาท บางทีคุณอาจไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2560 เลยด้วยซ้ำ ถึงจะไปช้อปปิ้งลดหย่อนภาษี ก็เสียเวลาเปล่า ๆ เพราะไม่ได้ช่วยประหยัดอะไรเลย แถมยังอาจเป็นการก่อหนี้เพิ่มโดยใช่เหตุ ดังนั้น 3 ข้อนี้ต้องคิดให้ดี ก่อนจะเฮละโลกันไปต่อคิวช้อปช่วยชาติปีนี้


1. เช็กโครงสร้างเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราใหม่ ปีนี้เราต้องเสียไหม ?

          เรื่องแรกที่ต้องคิดเลยก็คือ เรามีรายได้ทั้งปีเท่าไร เพราะนี่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ปี 2560 แล้วยิ่งปีนี้มีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ เพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพิ่มวงเงินค่าลดหย่อนมากขึ้น ทำให้คนที่เคยเสียภาษีฐาน 5% ในปีที่แล้ว อาจไม่ต้องเสียภาษีในปีนี้เลยก็ได้นะ ลองมาดูตารางกันค่ะ

ช้อปช่วยชาติ

          จะเห็นได้เลยว่า ปีนี้คนที่มีเงินเดือนไม่เกิน 25,833 บาท จะไม่ต้องเสียภาษีเลย ส่วนใครมีคู่สมรสที่แยกยื่นแบบฯ หรือมีบุตร ก็ยังได้ลดหย่อนเพิ่มเข้าไปอีก แม้จะมีเงินเดือน 3 หมื่นกว่า ก็ยังไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน นอกจากนี้ใครที่มีค่าลดหย่อนอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ซื้อประกันชีวิตไว้ ต้องอุปการะเลี้ยงดูพ่อ-แม่-คนพิการ ก็ยังนำเงินส่วนนี้มาลดหย่อนได้อีก ลดไปลดมาก็แทบไม่ต้องเสียภาษีเลยนะ

          ถ้าสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองต้องเสียภาษีปีนี้หรือไม่ ลองมาคำนวณกันดู

          - วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก่อนยื่นภาษี 2560

ช้อปช่วยชาติ

          ถ้าผลออกมาแล้ว เราอยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ฯ 2560 เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้บริการช้อปช่วยชาติมาช่วยลดหย่อนภาษี เพราะไหน ๆ เราก็ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว แล้วจะไปซื้อของเอามาลดหย่อนภาษีทำไมล่ะเนอะ
          แต่ถ้าคำนวณแล้วยังต้องเสียภาษีในฐาน 5% อยู่ ก็มาดูข้อต่อไปค่ะ

2. จ่าย 15,000 เพื่อแลกส่วนลด 750 บาท คุ้มไหม ?

          ถ้าเป็นคนที่ฐานภาษี 35% การจ่ายเงิน 15,000 บาทแล้วสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 5,250 บาท เท่ากับซื้อของชิ้นนั้นได้ในราคาลดถึง 35% แบบนี้ถือว่าคุ้มสุด ๆ ค่ะ

          แต่กับคนที่มีฐานภาษีเพียงแค่ 5% ซึ่งมีเงินเดือนอยู่ราว ๆ 3-4 หมื่นบาท การควักเงินออกจากกระเป๋า 15,000 บาท หรือเกือบ 50% ของเงินทั้งเดือน เพื่อซื้อของแลกกับเงินคืนภาษีเพียงแค่ 750 บาท แบบนี้ไม่ค่อยคุ้มเลยนะ แทนที่จะยอมเสียภาษีไปแค่ 750 บาท แต่ยังมีเงิน 15,000 บาทเก็บอยู่ในกระเป๋า เห็นไหมว่าเสียน้อยกว่าเห็น ๆ 

ช้อปช่วยชาติ

3. ของที่ซื้อจำเป็นไหม ร้านค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาหรือเปล่า ?

          บางคนอาจจะบอกว่า ซื้อของได้ส่วนลดยังไงก็ดีกว่าซื้อของราคาเต็ม ซึ่งนั่นก็ไม่ผิดค่ะ ยิ่งกรณีที่เราตั้งใจจะซื้อของชิ้นนั้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะเป็นของใช้จำเป็น หรือของใช้ในชีวิตประจำวันที่ต้องใช้อยู่แล้ว เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม กระดาษชำระ ผ้าอนามัย ฯลฯ หรือแม้แต่การซ่อมรถ ซ่อมบ้าน แบบนี้ดูแล้วจำเป็น ถ้าซื้อแล้วได้ส่วนลดนิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดีเนอะ แต่หากเราไม่คิดจะซื้อของชิ้นนั้น แต่เห็นแก่การลดหย่อนภาษี การจ่ายเงินหลักหมื่นเพื่อแลกกับส่วนลดหลักร้อยก็อาจเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ หรือก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็นเลยก็ได้นะคะ
          แต่ถึงกระนั้น การจะซื้อสินค้าอะไรก็ต้องตรวจสอบราคาสินค้าให้ดีด้วยว่า ยังเป็นราคาปกติอยู่หรือเปล่า เพราะร้านค้าบางแห่งอาจฉวยโอกาสปรับราคาให้แพงขึ้น บวกขึ้นไป 5% 10% แบบนี้ต่อให้ได้ลดหย่อนภาษี 5% ก็ไม่ต่างกับการซื้อสินค้าราคาเดิม หรือเผลอ ๆ ต้องจ่ายแพงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

          ดังนั้น คิด ๆ ดูแล้ว ถ้าเป็นสินค้าที่มักจัดโปรโมชั่นหรือเซลล์บ่อย ๆ การรอซื้อสินค้าที่ลดราคามากกว่า 5% ในช่วงเวลาอื่น แต่ไม่ได้ประหยัดภาษีในปีนี้ อาจจะดีกว่าการซื้อของในช่วงนี้ที่ไม่ลดราคาหรือปรับราคาขึ้น แต่ได้ลดหย่อนภาษีเพียงแค่ 5% ก็เป็นได้นะคะ

          หากคิดจะประหยัดภาษี แต่ใช้จ่ายจนเกินตัว หรือซื้อของไม่จำเป็น ก็เท่ากับไม่ได้ประหยัดเลยสักนิด ดังนั้น คนที่เสียภาษีในอัตราน้อย ๆ อยู่แล้ว เช่น 5% 10% ก็ควรช้อปอย่างมีสตินะคะ หรือถ้าอยากประหยัดจริง ๆ ก็ยอมจ่ายภาษีไป 750-1,500 บาท แล้วเก็บเงินสด ๆ 15,000 บาทไว้ในกระเป๋าเหนาะ ๆ น่าจะสบายใจกว่าเนอะ