รู้ก่อนปลอดภัยก่อน!! เทคนิคเลือกลูกชิ้นปลาให้ไร้สารเรืองแสง

ผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานลูกชิ้นปลา ควรระวังกันนิดนึงนะคะ จากกรณีพบสารเรืองแสงในลูกชิ้นปลา ควรเลือกซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือกันซักหน่อยจะได้อร่อยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เราด้วยค่ะ

ส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย 2 กลุ่ม

กลุ่มซูโดโมแนส (Pseudomonas) มักพบบริเวณส่วนเมือกที่ปกคลุมผิวด้านนอกและด้านในทางเดินอาหารของปลา มีทั้งสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

ซึ่งสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายจะเป็นกลุ่มPseudomonas aeruginosa มีเอนไซม์สลายเม็ดเลือดแดง ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบปัสสาวะ โลหิตเป็นพิษ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ การติดเชื้อในแผลน้ำร้อนลวก หรือไฟลวก ตาอักเสบ และหนองฝีต่าง ๆ

กลุ่มวิปริโอ (Vibrio) พบได้ทั่วไปในธรรมชาติโดยเฉพาะผัก ผลไม้ และอาหาร มีทั้งชนิดที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน ซึ่งชนิดที่เป็นอันตรายจะก่อให้เกิดอหิวาตกโรค กระเพาะลำไส้อักเสบ แต่แบคทีเรียชนิดนี้สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน 56 องศาเซลเซียส

การปนเปื้อนของแบคทีเรียอาจเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมทำให้เชื้อยังไม่หมด หรือปนเปื้อนระหว่างและหลังการผลิต ทั้งจากการบรรจุ อุปกรณ์การผลิต ผู้ผลิต รวมทั้งการขนส่งและระหว่างรอจำหน่ายหากเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 4 องศาเซลเซียส สามารถทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

”ผู้บริโภคควรเลือกซื้อลูกชิ้นปลาจากร้านค้าที่เชื่อถือ มีเครื่องหมาย อย. ระบุวัน เดือน ปีหมดอายุ สะอาด มีการจัดเก็บเป็นอย่างดี บรรจุภัณฑ์ควรปิดสนิท ไม่ฉีกขาด หรือกรอบจนเกินไป ลูกชิ้นปลาไม่มีเมือกหรือจุดสี มีสีและกลิ่นตามธรรมชาติ และหลังจากการซื้อควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ก่อนนำมารับประทานควรนำไปลวกหรือปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง และไม่ควรทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเกิน 2 ชั่วโมง”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
bedtaledidea
| กระทรวงสาธารณสุข Cr.balance888