นี่คือสาเหตุที่คนโบราณชอบบอกว่า เวลาเข้าวัด ห้ามเหยียบธรณีประตู!

เหตุใดจึงห้ามเหยียบธรณีประตู เคยได้ยินคนโบราณบอกว่า เวลาเข้าวัด เข้าโบสถ์หรือเข้าบ้าน ห้ามเหยียบธรณีประตู ทำไมจึงห้ามเช่นนั้น คนสมัยก่อนห้ามมิให้เหยียบธรณีประตู เพราะที่ธรณีประตูนั้นเป็นที่สถิตของพระภูมิประตู (พระภูมิมีอยู่ ๙ องค์ เช่น พระภูมิบ้านเรือน พระภูมิประตูและหัวกระได พระภูมินา เป็นต้น) การเหยียบธรณีประตูจึงเท่ากับเป็นการลบหลู่พระภูมิประตูนั่นเอง (ในบางท้องถิ่นเชื่อว่าธรณีประตูมี “ผีธรณี” รักษาอยู่“ซองคำถาม” เข้าใจว่าน่าจะมีความหมายเดียวกันกับพระภูมิประตู)


ใน “สี่แผ่นดิน” อมตนิยายของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็กล่าวถึงความเชื่อเรื่องนี้ไว้ในตอนที่แม่พาพลอยเข้าวังเป็นครั้งแรกว่า ที่ประตูวังชั้นในมีหญิงแก่บ้างสาวบ้าง เรียกว่า โขลน ทำหน้าที่เฝ้าประตูวัง ใครที่ก้าวข้ามไม่พ้นเผลอเหยียบธรณีประตูจะต้องถูกตีหรือต้องกราบขอขมาธรณีประตูนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์บรรยายธรณีประตูที่ประตูวังชั้นในไว้ว่า “ธรณีประตูนั้นทำด้วยไม้เหลี่ยมค่อนข้างใหญ่… มีรอยคนมาปิดทองไว้บ้างเป็นระยะ ๆ และใกล้ ๆ ขอบประตูนั้นก็มีธูปปักอยู่ที่ริมขอบประตู” นี่แสดงว่าเรื่องธรณีประตูเป็นความเชื่อที่ฝังแน่นอยู่ในหมู่คนไทยมาช้านาน ใช่แต่คนไทยเท่านั้น ชาวโรมันก็เชื่อว่า ที่ตรงธรณีประตูเรือนทุกเรือนมีผีหรือเทวดาผู้ชายเฝ้าอยู่ ชื่อว่า เยนุส (Janus)

คนไทยมีความเชื่อและข้อห้ามมากมาย ข้อห้ามบางอย่างก็สร้างความสงสัยให้แก่เราไม่น้อย คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมคนเฒ่าคนแก่จึงไม่ให้เหยียบธรณีประตูวัดหรือบ้าน วันนี้เรารวบรวมเหตุผลดี ๆมาฝาก ดังนี้

1. ธรณีประตูเป็นจุดที่มีนายทวารบาลหรือเทพยดาที่คอยดูแลปกปักรักษา ดังนั้นต้องให้ความเคารพไม่เหยียบย่ำ
2. เหตุผลทางธรรม เป็นอุบายสอนใจ การข้ามผ่านธรณีประตูเปรียบได้กับการข้ามพ้นโลก และอำนาจกิเลส จึงเป็นเครื่องสอนใจให้ควบคุมตนเองให้อยู่เหนือกิเลส
3. ธรณีประตูมีหน้าที่ช่วยค้ำยันวงกบไม่ให้ยุบตัว ดังนั้นหากมีคนเหยียบหรือเตะธรณีประตูบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้ประตูโยกคลอน หรือทำให้พื้นไม้โค้งงอจนเป็นแอ่ง เสี่ยงต่อการถูกบุกรุกโดยสัตว์เลื้อยคลานต่าง ๆ จึงเป็นกุศโลบายคนโบราณที่ห้ามเหยียบธรณีประตู
4. เป็นกุศโลบายให้รักษาสติ เนื่องจากบางที่ธรณีประตูไม่เท่ากัน มีโอกาสมากที่จะสะดุดธรณีประตู ทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
5. ธรณีประตูจะมีการลงรักปิดทอง หรือทาชาดไว้ให้สวยงาม การเหยียบธรณีประตูจะทำให้รักทองหรือชาดที่ทาไว้ชำรุด-เสียหายได้

ที่มา : ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี