สมุนไพรกับการรักษามะเร็ง

รศ.นพ.ชัยยศ ธีรผกาวงศ์ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยาFaculty of Medicine Siriraj Hospitalคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หลายต่อหลายครั้งที่เห็นคนไข้แล้วเศร้าใจ เพราะเหตุที่คุณผู้หญิงทั้งหลายหันไปรักษามะเร็งด้วยสมุนไพร  มาเจอคนไข้อีก ทีก็เข้าขั้นระยะรุนแรง หรือหมดทางเยียวยาแล้ว

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อย ยิ่งมะเร็งที่เกิดในสตรี เช่น มะเร็งปากมดลูกด้วยแล้ว  หากรายไหนหมอบ่งชี้ว่า  ควรจะรับการรักษาโดยวิธี รังสีรักษา ก็มักจะหายไปอย่างไร้ร่องรอย   ด้วยความเข้าใจผิดของผู้ป่วยนั่นเอง

อยากจะบอกคุณผู้หญิงทั้งหลายว่า ผู้ที่เป็นมะเร็ง  ไม่ได้แปลว่าตนจะต้องตายสถานเดียว ถ้าตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ครับ
   
การรักษามาตรฐานที่ใช้กันมี 3 วิธี คือ
1. การผ่าตัดรักษา เช่น  มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมะเร็งรังไข่ ซึ่งวิธีการผ่าตัดก็หลากหลายแล้วแต่ชนิดของโรค

2. รักษาโดยยาเคมีบำบัด มักใช้ในโรคมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งชนิดอื่น ๆ เพื่อช่วยกำจัดมะเร็งที่หลงเหลือจากการผ่าตัด หรือเพื่อกันการเกิดซ้ำของโรค โดยหมอจะพิจารณาการใช้ยาเคมีบำบัดอย่างไร ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และปริมาณมะเร็งที่หลงเหลือจากการผ่าตัดหรือขึ้นกับปัจจัยอื่น ๆ  ของคนไข้

3. รักษาโดยรังสีรักษา ซึ่งในปัจจุบันอาจจะรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด ซึ่งได้ผลดีในการรักษามะเร็งปากมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูก อย่างไรก็ตาม ผลการรักษายังขึ้นกับระยะของโรค ถ้าเป็นระยะแรกโอกาสหายเกือบจะ 100 % สำหรับภาวะแทรกซ้อนของการรักษานั้น พบน้อยมาก  เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมาก ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนจึงแทบจะไม่มี

การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวถือเป็นการรักษาโรคแผนปัจจุบัน ต้องผ่านการศึกษาวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หลักทางสถิติและทางวิทยาศาสตร์ มีการทดลองในหลอดแก้วและในสัตว์ พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและใช้ได้ผลในการ รักษาจริง  ก่อนจะนำมาใช้รักษากับผู้ป่วย  โดยแพทย์ผู้ชำนาญการ  อีกทั้งผล งานดังกล่าวยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกด้วย  

แต่สำหรับการใช้ยาสมุนไพรรักษามะเร็งนั้น  ยังไม่มีรายงานผลการรักษาที่ เชื่อถือได้ชัดเจน มักพูดกันปากต่อปาก หรือเป็นไปตามกระแสข่าว  ทำให้เกิดความหลงเข้าใจผิดไป  ยิ่งกว่านั้นยา สมุนไพรบางชนิดยังผสมยาเคมีบำบัดเข้าไปด้วย  อาจทำให้คนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การกดไขกระดูกมากขึ้น และหากผู้ป่วยรักษาร่วมกับแผนปัจจุบันอีก  อาจทำให้การรับยาไม่ได้ตามที่ กำหนด  จึงเกิดผลเสียในการตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบัน  และอาจทำให้การรักษาล้ม เหลวในที่สุด

เข้าทำนองคิดผิดจนตัวตาย

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto