ต้องหมั่นสังเกตุ! ระวังภัยเงียบของสตรีที่มีน้ำหนักมากและประจำเดือนมาไม่ปกติ

ระวังภัยเงียบของสตรีที่มีน้ำหนักมากและประจำเดือนมาไม่ปกติ

PCOS คืออะไร

PCOS ย่อมาจาก Polycystic Ovarian Syndrome (บางทีก็เรียก  PCOD  ย่อมาจาก Polycystic Ovarian Disease)  เป็นกลุ่มอาการหรือโรคที่พบบ่อยในสตรีอย่างหนึ่ง

อาการประกอบไปด้วย 

ประจำเดือนมาไม่ปกติ  ขาดประจำเดือนนานๆ  เป็นอย่างแรก (เกิดจากไม่มีการตกไข่หรือตกไข่ผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ)   น้ำหนักมาก (อ้วน) เป็นอย่างที่สอง  มีขนดกกว่าปกติที่ใบหน้า ร่องอก และท้องน้อย เป็นอย่างที่สาม

ที่บอกว่าพบมากเพราะพบได้ใน  5-10% ของสตรีวัยเจริญพันธุ์  ที่บอกว่าเป็นภัยเงียบก็เพราะมันอาจจะทำให้เกิดโรคเรื้อรังและร้ายแรงบางอย่าง( ซึ่งาจะกล่าวต่อไป )

โรคนี้พบกันมาตั้งแต่ปี 1930 โดยสูตินรีแพทย์ชาวเยอรมัน  2 ท่าน นามสกุล Stein และ Leventhal อธิบายผู้ป่วยสตรีที่มีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อ้วน และมีขนดก พร้อมกับตรวจพบลักษณะของรังไข่มีความผิดปกติจำเพาะตัว และไข่ไม่ตกเรื้อรัง

สตรีที่จะมาปรึกษาแพทย์ด้วยปัญหา  2 ประการเป็นส่วนใหญ่  คือ

1. หลังจากผ่านวัยรุ่นมานานแล้ว ประจำเดือนไม่มา  หรือหลาย ๆ เดือนมาครั้งหนึ่ง  หรือประจำเดือนมาไม่แน่นอน  หรือมาคราวละนาน ๆ และมามากจนซีดโลหิตจาง

2. แต่งงานนานแล้วไม่ตั้งครรภ์ อาจมี หรือ ไม่มีอาการในข้อ  1 ร่วมด้วย



PCOS เกิดขึ้นได้อย่างไร

ตามธรรมดาสตรีวัยเจริญพันธุ์  (อายุ  18-40 ปี) ควรจะมีการตกไข่ของรังไข่สม่ำเสมอทุกเดือน (ทุก 28+ 7 วัน)  ช่วงก่อนตกไข่เป็นครึ่งแรกของรอบประจำเดือน  รังไข่จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมากระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูก (หลังจากหลุดลอกไปจากการมีประจำเดือน)  ให้เจริญงอกงามหนาตัวขึ้น

พอช่วงหลังการตกไข่ ในครึ่งหลังของรอบประจำเดือน  รังไข่จะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขึ้นมาด้วย  ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญมาก่อนหน้านี้มีความสมบูรณ์พร้อมรับการฝังตัวและเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์  ถ้ามีการตั้งครรภ์  รังไข่จะทำงานต่ออีกจนถึง  7-10 สัปดาห์  จากนั้นก็หยุดทำงาน  ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรกทำงานต่อไป

ถ้ามีไข่ตกแต่ไม่มีการตั้งครรภ์  รังไข่จะทำงานต่อหลังไข่ตกประมาณ  10-12  วัน ก็หยุดสร้างฮอร์โมน  หลังจากนั้น  2-3  วันเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาพร้อมเลือดเป็นประจำเดือน

ถ้าไม่มีการตกไข่  รังไข่จะไม่มีการสร้างโปรเจสเตอโรน  มีแต่เอสโตรเจน  เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะเจริญขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าถุงไข่ฝ่อตัวเมื่อไรก็ทำให้เอสโตรเจนหมด  เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเหมือนกัน  แต่ถ้าถุงไข่ค่อย ๆ โตช้า ๆ ไม่เรื่อย ๆ หรือ โตอยู่กับที่นาน ๆ ฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ออกมาน้อย ๆ ช้า ๆ  เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หลุดลอกออกมา ก็จะไม่มีประจำเดือน

ถ้าระหว่างนั้นมีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้น ๆ ลง ๆ ก็จะมีการหลุดลอกเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นช่วง ๆ ทำให้มีลักษณะเลือดออกกะปริดกะปรอยไม่แน่นอน  หรือถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกถูกกระตุ้นจนหนามากเกิน  มันก็จะหลุดลอกออกมาเองเหมือนน้ำล้นถ้วย  ลักษณะเลือดประจำเดือนก็จะออกมาแบบมากและนาน  จะเห็นว่าถ้ามีการตกไข่สม่ำเสมอ  ประจำเดือนจะมาสม่ำเสมอ  แต่ถ้าไม่ตกไข่ ประจำเดือนอาจจะมาเป็นแบบใดก็ได้

เรากลับมาดูโรคหรือกลุ่มอาการ PCOS เราตรวจพบว่าที่รังไข่แทนที่จะมีถุงไข่เพียง 1 ถุงโตขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ไข่ตกในแต่ละเดือนสลับข้างกันในรังไข่แต่ละข้าง กลับพบว่าในรังไข่แต่ละข้าง มีถุงไข่เล็ก ๆ เต็มไปหมด  ไม่มีถุงไข่ถุงไหนจะเจริญจนถึงการตกไข่  เมื่อทำ ultrasound ก็จะพบเป็นถุงเล็กๆ ใต้ผิวรังไข่  รังไข่เองก็จะโตกว่าปกติเล็กน้อย  จึงเป็นที่มาของคำว่า Polycystic (Poly =  มาก, Cyst = ถุง)

เราพบอีกว่าสตรีที่เป็นโรคนี้  รังไข่และต่อมหมวกไต  จะสร้างฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติในร่างกาย  จึงทำให้มีขนบริเวณใบหน้า  ร่องอก  และท้องส่วนล่างออกมาหนากว่าปกติ และ เราพบว่าร่างกายของสตรีผู้นี้มีระดับเอนไซม์อินซูลินในกระแสเลือดมากกว่าปกติ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเซลล์ของร่างกายตอบสนองต่อการทำงานของอินซูลินในการใช้น้ำตาลในเซลล์น้อย ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากขึ้นมาชดเชย  เมื่อน้ำตาลในเซลล์ถูกใช้น้อย ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นไขมัน  ดังนั้นความอ้วนก็เกิดขึ้นและความอ้วนนี้จะลดยากมาก  เพราะตัวช่วยที่ไม่ให้มีการสร้างไขมันจากน้ำตาล (คือ อินซูลิน) ทำงานได้ไม่ดี

โดยสรุปลักษณะทั่วไปของกลุ่มอาการ PCOS หรือ PCOD ก็คือ ประจำเดือนผิดปกติ  อ้วน และมีขนดก  แต่ทุกคนที่เป็นโรคนี้  อาจมีอาการไม่ครบทั้ง 3 อย่างก็ได้  แต่ตัวยืนคือ รังไข่ทำงานผิดปกติ

แพทย์จะวินิจฉัย PCOS ได้อย่างไร

เนื่องจากอาการทั้ง  3 อย่างนี้  แต่ละอย่างเกิดจากโรคอื่นๆ ได้  เช่น ความผิดปกติที่ประสาทและสมอง  ความผิดปกติที่ต่อมหมวกไต  ต่อมไธรอยด์  หรือที่ตับอ่อน  เนื้องอกที่รังไข่  เป็นต้น

การวินิจฉัยจึงต้องดูเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน  ทำ ultrasound และการตรวจฮอร์โมนเพศ จึงจะให้การวินิจฉัยที่แน่นอน (บางทีแพทย์อาจไม่ตรวจหมดทุกอย่างก็เป็นได้)

PCOS มีอันตรายอย่างไร

จากการติดตามคนที่เป็นโรค PCOS พบว่า  มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่อไปนี้

1. ปัญหามีบุตรยาก  จากรังไข่ทำงานผิดปกติ

2. ปัญหาการตกเลือด  โลหิตจาง  เพราะประจำเดือนมามากและนานเกินไป

3. เป็นมะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม เพราะเยื่อบุมดลูกและเต้านมถูกกระตุ้นด้วยเอสโตรเจนจำนวนมากนานๆ

4. เป็นเบาหวาน (เพราะอินซูลินทำงานได้ไม่ดี)  และโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน  เช่นโรคความดันโลหิตสูง  โรคทางสมอง  ไต  และหัวใจ  เป็นต้น

แนวทางรักษา PCOS

เนื่องจากเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้  ดังนั้นแนวทางการรักษาจึงเป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาของผู้ป่วย  วิทยาการตอนนี้เราทราบว่ากลุ่มอาการนี้มีความผิดปกติ  3  อย่างคือ  รังไข่ทำงานผิดปกติ  มีขนขึ้น และระดับอินซูลินสูงเนื่องจากเซลล์ตอบสนองไม่ดี เพื่อป้องกันผลร้ายจากสิ่งดังกล่าว  จึงแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 พวก  คร่าว ๆ คือ

รายที่ไม่ต้องการมีบุตร

ไม่ว่าปัจจุบันหรือตลอดไป หลักการรักษาคือ ทำให้มีประจำเดือนเพื่อป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกหนาเกินไป  เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อเลือดออกมากและความเสี่ยงต่อมะเร็งในอนาคต  ด้วยการให้ฮอร์โมนเลียนแบบการมีไข่ตก  ที่สะดวกที่สุดคือการได้รับยาคุมกำเนิด  ซึ่งจะช่วยให้มีประจำเดือนปกติ  และคุมกำเนิดไปในคราวเดียวกัน (คนเป็นโรคนี้อาจมีไข่ตกบ้างบางเวลา) 

ถ้าไม่ต้องการรับประทานยาคุมกำเนิดก็ให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนรับประทานเป็นรอบ ๆ ไป  ถ้ามีขนดกด้วย  ก็ให้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนลดการสร้างแอนโดรเจน  ถ้ามีปัญหาเรื่องอ้วนก็ให้ยาที่กระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลิน  เพื่อให้การใช้น้ำตาลในเซลล์ดีขึ้น

ในทางกลับกันถ้าต้องการมีบุตร ก็ต้องกระตุ้นให้มีการตกไข่ หรือการใช้ยากระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลินของร่างกายหรือทั้ง 2 อย่างแล้วแต่กรณี  ถ้ายังไม่ได้ผล (หรือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง) คือ ใช้การผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องท้องโดยใช้ไฟฟ้าไปทำลายเนื้อเยื่อของรังไข่ส่วนที่สร้างแอนโดรเจนมากเกินไป  ซึ่งช่วยทำให้การตกไข่เองได้  และตั้งครรภ์ 50-60 %

สรุป     PCOS เป็นกลุ่มโรคที่เรายังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน  แต่พอจะรักษาเยียวยาได้ตามแต่ปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย  หวังว่าการแพทย์คงทราบสาเหตุและการรักษาที่ได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆตามวิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา

โดย พล.รศ.นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุล  และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

ข้อมูลจาก babysucceed