มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการระยะต่าง ๆ เป็นอย่างไร โรคร้ายจากไลฟ์สไตล์อันเร่งรีบ

  มะเร็งลำไส้ เพชฌฆาตเงียบจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ มาทำความรู้จักกับโรคให้ดียิ่งขึ้น แล้วถามตัวเองอีกที วันนี้คุณดูแลสุขภาพแล้วหรือยัง ?

          โรคมะเร็ง เป็นโรคที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ที่ถือเป็นหนึ่งในสามของชนิดมะเร็งที่คนไทยเป็นมากที่สุด โดยในแต่ละปีนั้นมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้นี้มากขึ้นนับร้อยคน วันนี้เราจะพาไปเจาะลึกกับเจ้ามะเร็งชนิดนี้ เพื่อที่จะได้ตระหนักถึงความอันตรายและหันกลับมาดูแลรักษาสุขภาพของเราให้ดีมากยิ่งขึ้น


มะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ เกิดจากอะไร ?

          โรคมะเร็งลำไส้ เป็นความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ที่เกิดการกลายพันธุ์ ทำให้มีการแบ่งตัวและเพิ่มขึ้นของขนาดเยื่อบุอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถควบคุมได้ จากนั้นเมื่อเซลล์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็จะเกิดติ่งเนื้อหรือเนื้องอกขึ้นในลำไส้ ซึ่งเนื้องอกอาจจะกลายเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ได้ แต่หากกลายเป็นมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อและส่วนต่าง ๆ ของลำไส้ผ่านท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือด และไปปรากฏยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เรียกว่า "มะเร็งแพร่กระจาย"

          โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งในลำไส้นั้นก็เช่นเดียวโรคมะเร็งอื่น ๆ อีกหลายชนิด คือยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่แพทย์มีการคาดว่าอาจจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน เช่น การถ่ายทอดของยีนที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ และอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างเช่น การบริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ได้แก่ เนื้อแดง อาหารไขมันสูง การไม่บริโภคผัก-ผลไม้ การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือการมีสารพิษตกค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน

          นอกจากนี้ความผิดปกติที่เกิดในลำไส้หรือระบบขับถ่ายก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้ อาทิ ท้องผูกเรื้อรัง หรือโรคลำไส้แปรปรวน เป็นต้น ทั้งนี้อัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ของทั้งเพศชายและหญิงอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน

มะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ ใครคือกลุ่มเสี่ยง ?

          โรคมะเร็งลำไส้แม้จะมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่สำหรับบางคนบางกลุ่ม อาจมีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้สูงกว่าคนอื่น โดยกลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังให้มากขึ้นมีดังนี้

          - ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด หรืออาหารที่ผ่านการปิ้งย่างจนไหม้เกรียมเป็นประจำ และกินอาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย
          - ผู้ที่ชอบดื่มเหล้า สูบบุหรี่
          - ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ชอบนั่งอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ค่อยมีการขยับไป-มา
          - มากกว่า 90% ของมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี
          - มีประวัติเคยเป็นมะเร็งลำไส้ หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ชนิด Adenomatous polyps
          - มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ หรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ชนิด Adenomatous polyps
          - มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ
          - มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย เช่น ลำไส้อักเสบ ท้องผูกเรื้อรัง ภาวะลำไส้แปรปรวน หรือโรคโครห์น (Crohn's disease)
          - มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง แต่ในกรณีนี้พบได้น้อยมาก

มะเร็งลำไส้

อาการมะเร็งลำไส้ มีสัญญาณเตือนเบื้องต้นอะไรบ้าง

          โดยส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคมะเร็งจะเริ่มต้นจากสัญญาณเตือนเล็ก ๆ ที่เราอาจมองข้าม ซึ่งอาการเหล่านี้ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าหากละเลยก็อาจทำให้อาการยิ่งรุนแรงขึ้น ดังนั้นเราจึงควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้หรือไม่เพื่อที่จะได้พบแพทย์ และเริ่มต้นการรักษาได้ไวขึ้นค่ะ 
          1. น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะรับประทานอาหารในปริมาณเท่าเดิม
          2. ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไป อาจมีขนาดเล็กลง หรือมีเลือดออกมาปะปนด้วย
          3. ท้องผูก และท้องเสียสลับกันบ่อยผิดปกติ หรืออาจมีอาการท้องผูกเรื้อรัง
          4. ท้องอืด ท้องเฟ้อ บ่อยผิดปกติ และมักมีอาการปวดบริเวณท้องช่วงล่าง
          5. ความอยากอาหารลดลง เพราะเมื่อมีก้อนเนื้ออยู่ในลำไส้ การทำงานของลำไส้จะช้าลง ส่งผลให้ไม่รู้สึกหิว
          6. เกิดอาการอ่อนเพลียผิดปกติ เพราะการสูญเสียเลือดจากการที่มีเลือดออกในลำไส้เนื่องจากเนื้องอก จะส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลีย ซึ่งถ้าหากเสียเลือดมากเกินไปอาจถึงขั้นช็อกได้
          7. คลื่นไส้ อาเจียน หากอยู่ดี ๆ เริ่มมีอาการอาเจียนบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้ที่เกิดจากมะเร็งทำให้เกิดอาการนี้ได้

มะเร็งลำไส้ อาการเป็นอย่างไร
ปวดท้องแบบไหน ?

          ส่วนใหญ่แล้วอาการของมะเร็งลำไส้จะขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเนื้อและตำแหน่งของมะเร็ง โดยหลัก ๆ แล้วจะมีการพบก้อนเนื้อบริเวณลำไส้ส่วนต่าง ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

          - บริเวณลำไส้ใหญ่ด้านขวา

          หากผู้ป่วยมีก้อนเนื้อมะเร็งที่บริเวณลำไส้ใหญ่ด้านขวา จะทำให้มีอาการอ่อนเพลีย โลหิตจาง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร บางรายอาจมีอาการปวดหน่วง ๆ ที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา หากคลำบริเวณท้องก็จะพบก้อนเนื้ออยู่ด้วย ในกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยพบอาการลำไส้อุดตัน

          - บริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย

          ก้อนเนื้อมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการลำไส้อุดตันจากก้อนมะเร็ง หรือมีการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติ มีอาการท้องผูก ปวดท้อง อาเจียน ไม่ผายลม บางรายอาจไม่มีการถ่ายอุจจาระเลย หรือถ้าถ่ายออกมาก็อาจมีเลือดปนออกมาด้วย

          - บริเวณลำไส้ตรง

          เนื่องจากลำไส้ตรงเป็นส่วนปลายของลำไส้ที่อยู่ใกล้ทวารหนัก หากผู้ป่วยมีก้อนเนื้อบริเวณนี้ก็อาจจะมีอาการปวดทวารหนักอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด เมื่อถ่ายและก็อาจจะถ่ายไม่สุด บางรายอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณขาหนีบโต หรือมีก้อนเนื้อออกมาจากทวารหนักที่ไม่ใช่ริดสีดวง

          ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อมะเร็งในลำไส้ใหญ่ซึ่งมีอาการลำไส้อุดตัน จะมีอาการปวดท้องรุนแรงคล้ายลำไส้ถูกบิดอยู่เป็นระยะ อาจมีอาการถ่ายไม่ออก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้หากอยู่ในระยะเริ่มแรกก็สามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงจากสีอุจจาระ หากมีความผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์ก่อนจะดีที่สุดค่ะ

มะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีกี่ระยะ

          มะเร็งลำไส้ใหญ่มีทั้งหมด 4 ระยะ ซึ่งในแต่ละระยะมีอัตราการหายขาดจากโรคที่แตกต่างกันไป ดังนี้

          มะเร็งลำไส้ ระยะแรก (ระยะที่ 1) - ระยะเริ่มแรก เป็นระยะที่ยังไม่มีการลุกลาม จึงสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด อัตราการหายขาดอยู่ที่ 95%

          มะเร็งลำไส้ ระยะที่ 2 - เป็นระยะที่เริ่มลุกลาม โดยเซลล์มะเร็งจะทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และอาจลามไปถึงเยื่อหุ้มลำไส้ เนื้อเยื่อส่วนอื่น ๆ หรืออวัยวะข้างเคียง จำเป็นต้องได้รับการรักษาทั้งแบบผ่าตัด และเคมีบำบัดควบคู่กันไป มีโอกาสหายขาดถึง 80-90% แต่ถ้าหากรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเดียวโอกาสจะอยู่ที่ 70%

          มะเร็งลำไส้ ระยะที่ 3 - มะเร็งจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต้องทำการผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองออกให้มากที่สุด และต้องมีการทำเคมีบำบัดด้วยเพื่อไม่ให้มะเร็งฟื้นตัวและกลับมาลุกลามได้ ระยะนี้โอกาสหายขาดอยู่ที่ 60%

          มะเร็งลำไส้ ระยะสุดท้าย (ระยะที่ 4) - ถือเป็นระยะที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมะเร็งจะแพร่กระจายไปที่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด หรือกระดูก ในการรักษาจะต้องทำการผ่าตัดเพื่อตัดอวัยวะบางส่วนที่เป็นมะเร็งออก และทำเคมีบำบัดร่วมด้วย ในระยะนี้หากได้รับการรักษาที่ต่อเนื่องโอกาสหายขาดก็เทียบเท่ากับระยะที่ 3
 

มะเร็งลำไส้

การตรวจมะเร็งลำไส้ มีวิธีใดบ้าง

          ในการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาโรคมะเร็งลำไส้สามารถทำได้หลายวิธี มีตั้งแต่วิธีเบื้องต้นไปจนถึงการตรวจทางพยาธิวิทยา โดยแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติครอบครัว ประวัติส่วนตัว ตรวจร่างกายโดยทั่วไปแล้วจึงจะเข้าสู่การตรวจเฉพาะทาง มีวิธีตรวจดังนี้

1. การใช้นิ้วตรวจทางทวารหนัก

          วิธีนี้ถือเป็นการตรวจแบบเบื้องต้น โดยแพทย์จะสวมถุงมือและทาครีมหล่อลื่นแล้วจึงจะตรวจบริเวณปากทางของทวารหนัก เพื่อตรวจดูว่ามีก้อนเนื้อแปลกปลอมอะไรหรือไม่

2. ตรวจหาเลือดในอุจจาระ

          แพทย์จะสั่งให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจงดเนื้อสัตว์และเลือดสัตว์ รวมทั้งอาหารเสริมบำรุงเลือดต่าง ๆ ที่อาจใช้อยู่เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นก็จะนำตัวอย่างอุจจาระที่ได้ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งถ้าหากมีเลือดปนอยู่ในอุจจาระก็แปลว่าภายในระบบทางเดินอาหารอาจมีเลือดออก แพทย์ก็จะส่งตัวให้ไปทำการตรวจอย่างละเอียดในขั้นต่อไป
3. การส่องกล้อง

          การส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยมีทั้งหมด 2 แบบคือ แบบที่ตรวจเฉพาะลำไส้ส่วนล่าง เรียกว่า Sigmoidoscope และการส่องกล้องเพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด เรียกว่า Colonoscopy

4. การกลืนสีหรือแป้ง (barium enema)

          นอกจากส่องกล้องแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่สามารถตรวจหาก้อนเนื้อได้ก็คือการกลืนสารทึบรังสี แล้วเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของลำไส้ใหญ่

5. การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ


          หากพบความผิดปกติของลำไส้หลังจากเอกซเรย์ หรือขณะที่กำลังส่องกล้อง แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ ถ้าหากใช่ แพทย์ก็จะวางแผนสำหรับการรักษาต่อไป

มะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ รักษาอย่างไร ?

          หลังจากที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้แล้ว แพทย์จะตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งว่าอาการที่เป็นอยู่ในระยะใด จากนั้นจึงจะเริ่มต้นวางแผนสำหรับการรักษา ทั้งนี้แพทย์จะต้องเช็กสภาพความพร้อมของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสุขภาพ อายุ และระยะของมะเร็ง แล้วถึงจะวางแผนการรักษาได้ โดยวิธีการรักษาที่ใช้อยู่กันอย่างแพร่หลาย ได้แก่

1. การผ่าตัด

          การผ่าตัดถือเป็นวิธีการรักษาเบื้องต้นของโรคมะเร็ง โดยแพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้อมะเร็งออกโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ส่วนใหญ่แล้วหากเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรกจะใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว โดยจะผ่าตัดนำลำไส้ส่วนที่เสียออกแล้วนำลำไส้ที่เหลือมาต่อกัน แต่ถ้าหากส่วนที่เป็นมะเร็งนั้นอยู่ใกล้ทวารหนักก็อาจมีการตัดทวารหนักทิ้ง และให้ผู้ป่วยใช้การอุจจาระผ่านทางหน้าท้อง จากนั้นแพทย์ก็จะทำการติดตามผลอย่างใกล้ชิดจนมั่นใจว่าจะไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ถ้าหากผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ 2 ขึ้นไป ก็จะเพิ่มการรักษาด้วยรังสีหรือเคมีบำบัดตามมาหลังการผ่าตัดด้วยเพื่อให้ ทำลายเซลล์มะเร็งให้หมด ไม่ให้หลงเหลือจนเกิดมะเร็งซ้ำ
2. รังสีรักษา

          รังสีรักษาเป็นการรักษาที่ใช้รังสีทำลายเซลล์มะเร็งในบริเวณที่เกิดโรค วิธีนี้สามารถลดขนาดของก้อนเนื้อมะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งได้เกือบทั้งหมด ทำให้สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น โดยการใช้รังสีรักษาจะทำได้ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด แต่ปัจจุบันนี้แพทย์นิยมให้ใช้การรักษาด้วยรังสีก่อนการผ่าตัด เนื่องจากได้ผลที่ดีกว่า แต่การให้รังสีหลังผ่าตัดก็สามารถป้องกันการเกิดซ้ำของโรค และลดการนำลำไส้มาเปิดไว้ที่หน้าท้องได้เช่นกัน

3. เคมีบำบัด

          การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้ร่วมกับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยหลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วก็จะต้องได้รับยาเคมีบำบัดเพิ่มเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาแบบนี้จะต้องเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่ 2 เป็นต้นไป หรือมีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ การใช้เคมีบำบัดสามารถเพิ่มโอกาสรอดของผู้ป่วยได้มากเลยทีเดียว ขณะที่ในบางรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาด้วยเคมีบำบัดก็จะกลายเป็นการรักษาหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจาย ลดความทรมานจากมะเร็ง แต่จะไม่สามารถทำให้หายขาดได้ค่ะ
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันอย่างไร

          ถึงสาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ได้ แต่เราก็สามารถลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ในหลาย ๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เนื้อแดงก็ควรรับประทานให้น้อยลง อีกทั้งยังควรดูแลระบบขับถ่ายให้เป็นปกติอยู่เสมอ อย่าให้เกิดลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน หรืออาการท้องผูกบ่อย ๆ ซึ่งถ้าหากคุณมีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายเรื้อรัง ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังควรตรวจหาความเสี่ยงโรคมะเร็งอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งค่ะ

ป่วยมะเร็งลําไส้ กินอะไรได้บ้าง หรือห้ามกินอะไร

          หากป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สิ่งหนึ่งที่ต้องใส่ใจคือการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกโภชนาการ โดยชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง แนะนำว่าผู้ป่วยควรจัดอาหารดังนี้

          - คาร์โบไฮเดรต ควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและมีใยอาหารมาก ๆ เช่น ข้าวกล้อง เพราะใยอาหารจะช่วยดูดซับสารก่อมะเร็งและน้ำดีแล้วขับออกจากร่างกาย

          - โปรตีน ควรทานวันละ 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม สามารถทานเนื้อสัตว์ได้ แต่ควรเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง แฮม เพราะมีสารไนไตรท์ที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งมากขึ้น ส่วนโปรตีนชนิดอื่นที่ควรทาน เช่น ไข่ และถั่ว เช่น ถั่วเหลือง

          - ไขมัน เลี่ยงไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ หันไปทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแทน เช่น ไขมันในกลุ่มโอเมก้า 3 และ 6 ซึ่งพบได้ในน้ำมันปลา แต่ไม่ควรทานวิตามินเสริม หรือน้ำมันปลา เพราะจะทำให้ได้รับไขมันเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ควรเลี่ยงไขมันที่เกิดจากการปิ้งย่างหรือน้ำมันทอดซ้ำที่มีสารก่อมะเร็งโดยตรง

          - ผัก หากผู้ป่วยมีอาการท้องอืดควรเลี่ยงผักที่มีใยอาหารมาก ๆ รวมทั้งผักกลิ่นฉุนที่มีสารกำมะถันอยู่มาก เช่น ต้นหอม หัวหอมใหญ่ ส่วนผักที่ควรรับประทานคือผักในตระกูลกะหล่ำ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่ามีผลดีต่อการป้องกันและต่อต้านมะเร็งลำไส้ แต่ควรล้างให้สะอาด

          - ผลไม้ สามารถทานได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผลไม้ที่มีเส้นใยสูง เช่น ฝรั่ง แอปเปิล ยกเว้นผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมาควรเลือกทานผลไม้ที่ย่อยง่าย เช่น มะละกอสุก ส้ม แก้วมังกร เป็นต้น และหลังจากการรับประทานผลไม้เส้นใยสูงแล้ว ควรเพิ่มการดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการอุดตันของลำไส้จากเส้นใยอาหาร

          โรคมะเร็งลำไส้ เป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด อย่าปล่อยให้วิถีการดำเนินชีวิตของคุณต้องเข้าไปใกล้ความเสี่ยงโรคมะเร็งเลยจะดีกว่า เพราะเมื่อเจ้าโรคนี้เข้ามาอยู่ในชีวิตแล้ว สิ่งที่ต้องเสียไปย่อมไม่คุ้มกันเลย หันกลับมารักตัวเองให้มากอีกนิดจะได้มีอายุที่ยืนยาวนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศูนย์มะเร็ง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่
โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง