คำแนะนำ ในการเลือกซื้อและวิธีการ เก็บรักษาข้าวสาร และวิธีกำจัดมอด

ข้าว เป็นพืชตระกูลหญ้า ที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ ถือเป็นอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าโภชนาการต่อร่างกายในด้านต่างๆ เช่น ช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด หัวใจ สมอง ช่วยระบบสืบพันธุ์ เซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญข้าวยังถือเป็นแหล่งพลังงานหลักในการช่วยสร้างพลังงานให้กับมนุษย์เราอีกด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เป็นหน่วยงาน ผลักดันและสนับสนุน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม ในการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี และให้ความสำคัญในเรื่องของวิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องของข้าวและโรงสีชุมชน โดยการนำเสนอเรื่องราวของข้าวในแง่มุมมองต่างๆ ในบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนจะได้เห็นถึงความสำคัญของข้าวที่มีต่อวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

Rice reaping

ตัวอย่างเช่น กลุ่มข้าวอินทรีย์สู่ผู้บริโภคบ้านป่าแฝดดอย เทศบาลตำบลป่าแฝก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งได้เข้ามาอบรมการปลูกข้าวปลอดสารพิษให้กับชาวบ้าน พร้อมกับแนะนำให้เกิดการรวมกลุ่ม ทำงานร่วมกับเทศบาลตำบลป่าแฝก และเครือข่ายธุรกิจการเกษตรในเขตพื้นที่ภาคเหนือ กลุ่มข้าวอินทรีย์ป่าแฝกดอย เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดโรค ปลอดภัย ทั้งนี้ข้าวที่กลุ่มรับซื้อจะสมาชิกจะให้ราคาสูงของพ่อค้าคนกลาง โดยข้าวที่ถูกแปรรูปจะนำไปส่งจำหน่ายตามโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้ข้าวบางส่วนยังนำมาบรรจุถุงขายตามงานต่างๆ

และอีกหนึ่งกลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรอินทรีย์หมู่ที่ 9 องค์องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่ต้องการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพ และช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยใช้วิธีการทำการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี ซึ่งนับว่าทางกลุ่มได้ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆและบุคคลทั่วไป ผลิตผลจะส่งจำหน่ายภายในชุมชน และตลาดภายนอกที่สนใจ
 
ปัจจุบันกลุ่มได้มีการต่อยอด โดยมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความหลากหลาย เช่นการทำน้ำข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ช่วยสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้ส่งผลิตภัณฑ์ไปขายยังต่างประเทศอีกด้วย


ในวันนี้นอกจากเราจะพูดถึงความสำคัญของข้าวแล้ว เรายังมีคำแนะนำให้กับผู้บริโภค ในการเลือกซื้อและวิธีการเก็บรักษาข้าว ดังนี้

การเลือกซื้อข้าวสาร
ควรซื้อข้าวสารที่เต็มเมล็ดและเป็นข้าวสารใหม่ ดูได้จากสีเมล็ดจะเป็นสีขาวน้ำนม ไม่ออกแดงเหมือนข้าวสารเก่า ที่สำคัญข้าวสารใหม่จะมีความนุ่ม และมีกลิ่นหอมเวลาหุงสุก หรือหากซื้อเป็นข้าวถุง ควรซื้อที่มียี่ห้อชัดเจน เชื่อถือได้ มีวันผลิต และได้มาตรฐานต่างๆ สามารถตรวจสอบได้

การเก็บรักษาข้าวเปลือก
ในการเก็บรักษาข้าวหลังจากตากเมล็ดข้าวจนแห้ง ประมาณ 3-4 แดด เกษตรกรจะเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เพื่อไว้บริโภคหรือแบ่งขาย และอีกส่วนหนึ่งจะแบ่งไว้ทำพันธุ์ โดยแยกไว้ในกระสอบต่างหาก ฉะนั้นข้าวพวกนี้จะต้องเก็บไว้เป็นอย่างดี โดยการรักษาให้ข้าวนั้นมีคุณภาพไม่สูญเสียความงอก ข้าวพวกนี้ควรเก็บไว้ในยุ้งฉางที่ดี ซึ่งทำด้วยไม้ยกพื้นสูง อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อจะได้ระบายความชื้นและความร้อนออกไปจากยุ้งฉาง

นอกจากนี้หลังคาของฉางจะต้องไม่รั่ว และสามารถกันน้ำฝนไม่ให้หยดลงไปในฉางได้ ก่อนเอาข้าวขึ้นไปเก็บไว้ในยุ้งฉางจำเป็นต้องทำความสะอาดฉางเสียก่อน และบางพื้นที่ก็จะนำมูลวัวหรือมูลควายที่ใกล้แห้งมาติดรอบยุ้งฉาง เพื่ออุดรูรั่ว และป้องกันแมลงและหนูเข้าไปกินข้าวด้วย

การเก็บรักษาข้าวสาร

ในส่วนของการเก็บรักษาข้าวสาร เราควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เก็บในสภาพไร้อากาศ มีการควบคุมอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว ถือเป็นการรักษาคุณภาพได้นานที่สุด เป็นการเก็บแบบธรรมชาติ ไม่ต้องใช้สารเคมีด้วย


และหากเผอิญข้าวสารของท่านเกิดมีมอดขึ้นมา เราก็ได้รวบรวมวิธีกำจัดมอดแบบประหยัดไว้ ดังนี้
วิธีที่ 1. ใส่โอ่งดินเผา
วิธีที่ 2. ใส่ใบเตยตากแห้ง 3-4 ใบ ต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม
วิธีที่ 3. ใส่พริกขี้หนูสด โดยผ่าครึ่งประมาณ 10 เม็ด ต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม
วิธีที่ 4.ใช้ช้อนสแตนเลส จะเป็นช้อนสั้นหรือช้อนยาวก็ได้ จำนวน 1-2 คัน ต่อข้าวสาร 1 กิโลกรัม
วิธีที่ 5. นำใบมะกรูดสดๆ ใส่ในถุงหรือถังข้าวสารที่มีมอด

ถ้าท่านไม่อยากถูกแมลงหรือมอดกินข้าวสารไปจดหมด แนะนำควรซื้อหรือนำข้าวไปสีไว้กินแต่พอดี ไม่เก็บไว้นานจนเกินไปนะคะ

และหากถ้าท่านใดสนใจเรียนรู้ในเรื่องของข้าวและโรงสีชุมชน หรืองานขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนในด้านอื่นๆ อาทิ ผ้าพื้นเมือง, ผักสวนครัว, ท่องเที่ยวชุมชน, ส่งเสริมอาชีพ, ตลาดชุมชน สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลได้ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือ http://www.thaihealth.or.th ค่ะ

ที่มา : พัชรี บอนคำ Team Content www.thaihealth.or.th