ระวังนะ!!! กินข้าวเย็นเยอะ เสี่ยงโรคหัวใจ

ผลจากการศึกษาของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุถึงการศึกษาความชุกและปัจจัยเสี่ยงของ “เมตะบอลิกซินโดรม” หรือ “โรคอ้วนลงพุง” ในกลุ่มวัยทำงานประเภทงานเบา อายุ 35-60 ปี พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมการกิน คือการรับประทานอาหารมื้อเย็นมากกว่า 4 ทัพพี การเลือกกินเนื้อปลาน้อยกว่าเนื้อหมู เนื้อวัว และการกินอาหารที่ซ้ำ ๆกันทุกวัน

ทั้งนี้รูปแบบการเลือกกินอาหารใน 4 รูปแบบพบว่า กลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการมีไขมันในช่องท้องมากกว่า 100 ตร.ซม. มากที่สุดคือรูปแบบการกินที่เน้นเนื้อสัตว์ ลดอาหารกลุ่มข้าว - แป้ง 44.2% รองลงมาเป็นกลุ่มที่กินเนื้อสัตว์ ธัญพืชผักผลไม้ในสัดส่วนเท่า ๆกัน 31.9% กลุ่มที่กินแบบมังสวิรัติเป็นหลักเนื้อปลา ข้าว - แป้งสูงแต่ไขมันต่ำ 28.1% และกลุ่มที่กินแบบมังสวิรัติเป็นหลัก เนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ได้บ้างแต่ปริมาณน้อย 25.7%

          สำหรับกลุ่มที่มี “ความผิดปกติในการเผาผลาญอาหาร” หรือ “เมตะบอลิก ซินโดรม” จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน  โรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยผู้ที่ถือเป็นเมตะบอลิก ซินโดรม ตามเกณฑ์ของ national cholesterol education program (ncep) ต้องมีความผิดปกติทางเมตะบอลิซึ่ม หรือการเผาผลาญอาหารอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อ คือ 1.อ้วนลงพุง 2.ระดับไตรกลีเซอไรด์ 3.ระดับเอช-ดี-แอลคอเลสเตอรอล 4.ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และ 5.ความดันโลหิต

               ขณะเดียวกันตามเกณฑ์สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ ต้องมีภาวะอ้วนลงพุงร่วมกับความผิดปกติทางเมตะบอลิซึ่ม อีกอย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ดังนั้นการเลือกกินอาหารเพื่อช่วยป้องกันภาวะเสี่ยงต่อเมตะบอลิกซินโดรม ควรเน้นประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้เป็นหลัก และกินเนื้อสัตว์ นม เนย ไข่บ้างในปริมาณน้อยและเป็นประเภทที่ไขมันต่ำ




ที่มา : Thaiquote