เช็กด่วน ! อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย เราป่วยแน่ ๆ หรือแค่ขี้เกียจ ?

บ่นกันอยู่เป็นประจำว่าเหนื่อย เพลีย ง่วงทั้งวันบ้างอะไรบ้าง เอ๊ะ ! อาการอ่อนล้าหมดแรงที่เป็นอยู่นี่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพไหม หรือเราแค่ขี้เกียจเกินไปเท่านั้น

        หากคุณมีอาการอ่อนเพลียเป็นพัก ๆ หรือมักจะเหนื่อยล้าเป็นช่วง ๆ จนเริ่มจะสงสัยตัวเองอยู่เบา ๆ ว่าความอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ดูไร้ซึ่งแรงบันดาลใจจะทำอะไรต่อมิอะไรของเราเป็นเพราะความขี้เกียจส่วนตัว หรือจริง ๆ แล้วร่างกายเราซ่อนโรคอะไรอยู่หรือเปล่า งั้นเอาเป็นว่ามาเช็กความแตกต่างกันให้รู้แจ้งเห็นจริง อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า หมดแรง แตกต่างจากความขี้เกียจยังไง

เช็กเลยว่าอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า ขี้เกียจ แตกต่างกันอย่างไร

          ถ้าอยากเช็กร่างกายของตัวเองง่าย ๆ อาจต้องสังเกตว่าความเหนื่อยของเราลากยาวไปขนาดไหน เช่น รู้สึกเหนื่อยง่าย เหมือนจะหมดแรงทุกวัน แต่พอพักก็หายเหนื่อย และยังพอมีแรงจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ไหว ยังไปทำงานได้เป็นปกติ พูดคุยกับคนรอบข้างได้อย่างสบายใจ เคสนี้อาจเป็นแค่การใช้ร่างกายหักโหมมากเกินไป เช่น ทำงานหามรุ่งหามค่ำติดต่อกันบ่อย ๆ โหมออกกำลังกายหนักเกินกว่าที่ร่างกายจะรับได้ไหว หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่เกินพอดี ซึ่งก็จะส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้าและหมดแรง หรืออาจส่งผลกระทบในแง่ลบกับสุขภาพได้ในภายภาคหน้าเช่นกัน

          แต่สำหรับคนที่มีอาการอ่อนเพลีย คล้ายจะรู้สึกอ่อนเพลียเรื้อรัง คือรู้สึกอ่อนล้าหมดแรงตลอดเวลา เป็นแบบนี้มาประมาณ 1-3 เดือน อาจเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจร่วมกัน เป็นได้ว่าอาจเกิดจากความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการในด้านลบออกมาทีละนิดละหน่อย ดังนี้

          - รู้สึกหมดกำลังใจจะทำอะไร

          - เครียดจนนอนไม่หลับเลยรู้สึกนอนไม่พออยู่ตลอดเวลา หรือบางคนอาจมีอาการนอนหลับเต็มอิ่มแต่รู้สึกเหมือนไม่ได้นอน

          - มีอาการท้องอืดบ่อย ๆ หรือรู้สึกหิวตลอดเวลา หรือบางเคสอาจไม่รู้สึกอยากกินอะไรเลยก็เป็นได้

          จะว่าไปอาการอ่อนเพลียก็น่าเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะกระทบกับสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตเข้าอย่างจัง คุณอาจมีปัญหาในการทำงาน หรือมีความสัมพันธ์ที่แย่ลงกับคนรอบข้างได้ ดังนั้นหากพบว่าตัวเองมีอาการอ่อนเพลียอยู่ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกให้ตัวเองโดยเร็วที่สุดดีกว่า  

ส่วนความขี้เกียจ จะเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับร่างกายแค่ชั่วขณะหนึ่ง เช่น หลังจากกินอิ่มแล้วไม่รู้สึกอยากทำอะไร หรือการได้นอนมากเกินไป ทำให้รู้สึกอยากนอนต่อไปเรื่อย ๆ โดยบางครั้งก็สามารถยกเลิกกิจกรรมที่คิดไว้ว่าจะทำอย่างไม่ต้องคิดอะไรมาก ทว่าหลังจากเวลาผ่านไปสักระยะ ร่างกายตื่นเต็มที่ หรือกลับมาอยู่ในภาวะปกติ ความขี้เกียจก็จะหายไปได้เอง เราก็กลับมามีชีวิตชีวาและกระตือรือร้นมากขึ้นอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่อาการที่น่าเป็นห่วงเท่าไร แต่ก็ไม่ควรจะรู้สึกขี้เกียจบ่อยเกินไปนะคะ

          อย่างไรก็ตามในศาสตร์อายุรเวท ความรู้สึกเหนื่อยล้า และความขี้เกียจมักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกันอยู่นิดหน่อย กล่าวคือเมื่อร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า ก็อาจพาให้รู้สึกขี้เกียจจะทำสิ่งต่าง ๆ ตามไปด้วย จนบางคนก็เหนื่อยและขี้เกียจจนติดเป็นนิสัยไปซะอย่างนั้น

          เอาล่ะ...ในเมื่อความรู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า หมดแรง และความขี้เกียจไม่ได้ให้ประโยชน์อันใดกับร่างกาย เราก็มากำจัดความรู้สึกด้านลบเหล่านี้ออกไปจากตัวเองกันเถอะ !


วิธีแก้ความรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และวิธีกำจัดความขี้เกียจ

          1. นอนให้เป็นเวลา ตื่นให้เป็นเวลา เพื่อส่งเสริมให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ

          2. พยายามอย่านอนหลับเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน

          3. พยายามเข้านอนแต่หัวค่ำ (ไม่เกิน 22.00 น.) และตื่นเช้า ๆ (ไม่เกิน 07.00 น.)

          4. หลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ ของทอดก็ลดลงบ้าง เพราะอาหารประเภทนี้ย่อยยาก และอาจทำให้นอนไม่หลับได้

          5. มื้อเย็นไม่ควรกินเยอะเกินไป เพราะจะทำให้ระบบย่อยทำงานหนัก จนส่งผลให้นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ตื่นตอนเช้ามาไม่สดชื่น

          6. กินผักและผลไม้ให้ได้ทุกมื้อ เพราะมีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญสำหรับการทำงานของระบบประสาทและสมอง

          7. ดื่มน้ำให้ได้ประมาณ 1.5 ลิตรขึ้นไป ให้น้ำช่วยเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกายตลอดทั้งวัน

          8. พยายามทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง

          9. พยายามลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เพราะจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพ จนทำให้รู้สึกอ่อนล้าหมดแรงได้

          10. อยู่ให้ห่างจากความตึงเครียดทุกชนิด หรือหากรู้สึกแย่กับชีวิตก็ให้เวลาตัวเองได้พักผ่อนบ้าง อย่าหักโหมกับอะไรมากเกินไป


          ได้เช็กอัพกันเรียบร้อยแล้วใช่ไหมคะว่าตัวเองมีอาการไหนกันแน่ ดังนั้นก็อย่าลืมแก้ปัญหาให้ถูกหลักด้วยล่ะ อ้อ ! แต่หากใครมีอาการอ่อนเพลียที่นอกเหนือไปจากนี้ ลองมาเช็กกันก็ได้ว่าแท้จริงแล้วเราเป็นอะไรกันแน่



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
stylecraze
easyayurveda
medicalnewstoday