6 โรค ควรระวังในฤดูฝน

ช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคมเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝนอากาศเริ่มเย็นและมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโรคได้หลายชนิด จึงมีความจำเป็นที่ต้องทราบแนว ทางการป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งโรคติดต่อที่สำคัญ ได้แก่

โรคไข้หวัดใหญ่
เกิดจากเชื้ออินฟลูเอ็นชาไวรัส ติดต่อจากการไอ จามรดกัน ทำให้มีอาหารไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คอแห้ง เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล จามหรือมีเสมหะมาก ตาแดง ตาแฉะ ป้องกันรักษาได้โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลรักษาร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย สวมหน้ากากอนามัย

โรคปอดอักเสบ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ในสภาวะที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติอาจเกิดจากเชื้อรา และพยาธิ ติดต่อทางการไอ จาม รดกัน อาการคือ มีไข้ไอ เสมหะมาก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ในเด็กเล็กสังเกตพบอาหารหายใจเร็วกว่าปกติ หากอาการรุนแรง อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลว จนเกิดภาวะขาดออกซิเจน หรือติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ ป้องกันได้โดยนอนพักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ เช็ดตัวบ่อยๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่น โดยเฉพาะเมื่ออากาศ เย็นจัด ชื้นจัด หากเด็กมีไข้ ไอ หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก ควรรีบพาไปพบแพทย์

โรคอหิวาตกโรค
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยอาการสำคัญคือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำครั้งละมากๆ อุจจาระเหลวสีคล้ายน้ำซาวข้าว กลิ่นเหม็นคาวจัด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย มีอาการขาดน้ำและเกลือแร่ อาจทำให้เกิดภาวะช็อก หมดสติ รายที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว ป้องกันและรักษษได้โดย ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่โอ อาร์ เอส เพื่อป้องกันการขาดน้ำและเกลือแร่ รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ

โรคไวรัสตับอักเสบ เอ
เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อจากคนหนึ่งสู่อีกคน อาการคือมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องร่วง ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลืองร่วมด้วย สามารถหายได้เองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ป้องกันและรักษาโดย รับประทานอาหารสุก ดื่มน้ำสะอาดรักษาอนามัยพื้นฐาน และฉีดวัคซีนป้องกันโรค

โรคมือ เท้า ปาก
เกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส พบมากในทารกและเด็กเล็ก ติดต่อโดยการได้รับเชื้อทางปาก อาการเริ่มด้วยมีไข้อ่อนเพลีย เจ็บปาก เบื่ออาหาร มีแผลออักเสบ ที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม อาจเกิดผื่นแดงไม่คันที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น หรือหัวเข่า การป้องกันและรักษาทำได้โดย รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพัก รักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ

โรคเลปโตสไปโรซิส
ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน เชื่อจะออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ และสุนัข แล้วปนเปื้อนในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่ที่มีน้ำขังชื้นแฉะ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู ได้แก่ ผู้ที่ลุยน้ำหรือแช่น้ำนานๆ เชื่อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลหรือเยื่อบุอ่อนๆ ขณะที่แช่น้ำ หรือรับประทานอาหาร ดื่มน้ำที่มีเชื้อ อาการคือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา มีเยื่อบุตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดิน ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้ ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย้ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว ต้องรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ซับให้แห้งโดยเร็วที่สุดควรสวมรองเท้าหรือรองเท้าบู๊ทที่เหมาะสม ดูแลที่พักให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู

ทั้งนี้วิธีป้องกันการเจ็บป่วยในช่วงฤดูฝนที่ดีที่สุด คือ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รักษาร่างกายให้อบอุ่นในช่วงอากาศหนาวเย็นหรืออากาศเปลี่ยนแปลง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ก็จะสามรถลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อต่างได้ๆ นอกจากนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 หรือ สำนักโรคติดต่ดทั่วไป โทรใ 02 590 3183

ขอบคุณข้อมูล จาก นิตยสาร หมอชาวบ้าน ฉ.435 ก.ค.58