เช็คว่าคุณเป็นมั้ย ตัดใจทิ้งของไม่ได้ ระวังเข้าข่ายเป็น โรคทิ้งของไม่ลง ชอบเก็บไม่กล้าทิ้ง

เช็ค!!ตัดใจทิ้งของไม่ได้ ระวังเข้าข่ายเป็น"โรคทิ้งของไม่ลง"ชอบเก็บไม่กล้าทิ้ง

Hoarding disorder เป็นโรคที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้าไปใหม่ในเกณฑ์วินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM V) เมื่อปี พ.ศ. 2556 นี้เอง โดยก่อนหน้านี้ยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคนี้มาก่อน เดิมเชื่อว่าเป็นอาการแบบหนึ่งในโรคกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ ด้วยเหตุว่าเป็นโรคใหม่ในภาษาไทยจึงไม่มีศัพท์ใช้เรียกอย่างเป็นทางการ

การศึกษาในต่างประเทศพบว่าโรคนี้พบได้ประมาณ 2-5% ในคนทั่วไป และพบได้เท่าๆกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง คนที่เป็นส่วนใหญ่มักเป็นคนโสด (ถ้าอ่านอาการแล้ว จะเข้าใจครับว่าทำไมส่วนใหญ่ถึงโสด) โดยอาการมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่น และเป็นต่อเนื่องไปตลอด

โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

เนื่องจากเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่จึงมีข้อมูลการศึกษาน้อยมากเมื่อเทียบกับโรคทางจิตเวชอื่นๆ แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า พันธุกรรมน่าจะมีส่วนต่อการเกิดโรค เนื่องจาก 80% ของผู้ป่วยจะมีญาติสายตรงที่มีอาการคล้ายๆกัน การศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์สมองพบว่า สมองบางส่วน (ส่วน cingulate cortex และ occipital lobe) ของผู้ที่เป็นโรคนี้มีการทำงานลดลง ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการคิดและการตัดสินใจ

ผู้ป่วยโรคเก็บสะสมของจะมีลักษณะอาการต่อไปนี้

-เก็บของไว้มากเกินไปแม้ว่าของนั้นจะดูไม่ค่อยมีประโยชน์ หรือมีโอกาสใช้ประโยชน์น้อยมาก

-มีความยากลำบากในการทำใจที่จะทิ้งของ (ตัดใจทิ้งของไม่ได้) โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากความคิดว่า “ยังอาจจำเป็นต้องใช้” “อาจจะได้ใช้” หรือทิ้งแล้วจะรู้สึกไม่สบายใจ

-ของที่สะสมเยอะมากจนรบกวนการใช้ชีวิต หรือทำให้เกิดอันตราย เช่น วางบนพื้นห้องจนไม่มีที่เดิน กองวางท่วมล้นบนโต๊ะทำงานจนทำงานบนโต๊ะไม่ได้ หรือของเยอะจนทำให้เจ็บป่วยบ่อย โดนของที่สะสมโค่นทับ เป็นต้น

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่คิดว่าตนเองผิดปกติ และมองว่าการเก็บของตัวเองนั้นสมเหตุสมผล (แต่คนส่วนใหญ่จะไม่คิดอย่างนั้น) คนที่มักทนไม่ได้คือคนที่อยู่ด้วยหรือเพื่อนบ้าน สิ่งสะสมที่พบได้บ่อยได้แก่ หนังสือ นิตยสาร เสื้อผ้า ถุงพลาสติก และขวดต่างๆ ซึ่งการเก็บของนี้ จะเยอะเกินว่าปกติของคนทั่วไป เช่น เก็บจนล้นกองเต็มทั่วบ้าน เป็นต้น (ในคนปกติบางคนอาจสะสมของบางอย่าง เช่น ชอบสะสมหนังสือ แต่จัดเก็บได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคเก็บสะสมของ) การสะสมของจำนวนมากๆแบบนี้ หลายครั้งมักทำให้เกิดอันตรายตามมา เช่น พบว่าผู้ป่วยบางรายมาโรงพยาบาลเพราะบาดเจ็บจากการถูกของล้มทับ (เช่น กองหนังสือเป็นตั้งไว้สูงท่วมหัวแล้วหนังสือล้มทับใส่) ห้องรกสกปรกจนทำให้เกิดโรคติดเชื้อหรือมีกลิ่นเหม็นมาก

โดยทั่วไปโรคเก็บสะสมของมักเริ่มมีอาการตั้งแต่วัยรุ่นและเป็นต่อเนื่องไปเรื่อยๆตลอดชีวิต เพียงแต่โดยส่วนใหญ่ตอนวัยรุ่นอาจจะไม่เป็นปัญหารุนแรงมากนัก เพราะของที่สะสมมักจะยังไม่มาก แต่จะเริ่มเป็นปัญหาหนักเมื่อวัยผู้ใหญ่ เพราะที่สะสมมักจะเยอะมาก ส่วนใหญ่พบว่าโรคนี้เป็นลักษณะเรื้อรังไม่หายขาด โดยอาการจะเป็นมากขึ้นบางช่วง โดยเฉพาะช่วงที่มีความเครียดมักจะมีการสะสมของมากขึ้น โรคที่มักพบร่วมกับโรคสะสมของได้แก่ โรคย้ำคิดย้ำทำ พบว่าคนที่เป็นโรคนี้เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วยกันมากถึง 30% นอกจากนี้อาการสะสมของอาจพบได้บ้างในผู้ป่วยโรคจิตเภท และโรคสมองเสื่อม

โรคนี้การรักษาด้วยยาพบว่าได้ผลเพียงนิดหน่อย โดยยาที่ใช้เป็น    ยากลุ่มยาต้านเศร้า การรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบันคือ การสอนการตัดสินใจ (ในการเก็บหรือทิ้งของ) การจัดกลุ่ม และการสอนวิธีการเก็บของที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงฝึกให้ทนได้กับการทิ้งของ ซึ่งพบว่าวิธีการเหล่านี้สามารถช่วยลดของที่สะสมลงได้เกือบ 1 ใน 3 ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว

ข้อมูลจาก http://www.winnews.tv/news/12445