13 สมุนไพรแก้ไอ ตำรับยาแผนไทยขับเสมหะ

  สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ สรรพคุณดีเด่นไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน ใครป่วย มีอาการไอ มีเสมหะ ต้องลอง !

          อากาศเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ทำให้คนป่วยด้วยโรคในระบบทางเดินหายใจ เป็นไข้บ้าง เป็นหวัด น้ำมูกไหล แต่อาการไม่สบายที่น่ารำคาญที่สุดก็คืออาการไอ ซึ่งมักจะมาพร้อมกับเสมหะเมื่อเราเป็นหวัดอยู่เสมอ หรือแม้แต่คนที่ไอแห้ง ๆ อมยาเพื่อช่วยให้ชุ่มคอก็ยังไม่หาย อีกทั้งยังไม่อยากกินยาแผนปัจจุบันเพราะกลัวจะเพิ่มภาระให้ตับและไต วันนี้กระปุกดอทคอมมีสมุนไพรแก้ไอ มาฝากค่ะ แถมสมุนไพรแก้ไอดังต่อไปนี้ ยังเป็นของดีที่น่าจะมีติดครัวกันอยู่บ้างสักชนิดแหละน่า

          แต่ก่อนจะไปไล่เรียงกันว่า สมุนไพรแก้ไอมีอะไรที่ช่วยบรรเทาอาการไอได้บ้าง เรามารู้จักฤทธิ์ของสมุนไพรในแต่ละกลุ่มกันก่อนค่ะ โดยสมุนไพรแก้ไอจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ดังนี้

          1. กลุ่มที่มีสารสำคัญช่วยเคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดอาการระคายเคือง ได้แก่ น้ำผึ้ง มะนาว มะขามป้อม

          2. สมุนไพรที่มีฤทธิ์กดศูนย์ไอในสมอง เช่น ฝิ่น แต่ฝิ่นจัดว่าเป็นสารเสพติดที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นข้ามสมุนไพรชนิดนี้ไปน่าจะปลอดภัยที่สุด

          แต่ใช่เพียงจะมีแค่ 2 กลุ่มสมุนไพรแก้ไอดังที่กล่าวมาเท่านั้น ทว่าในครัวเราอาจจะมีสมุนไพรที่ช่วยขับเสมหะ รวมทั้งบรรเทาอาการไอได้ จากสมุนไพรขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ 3 กลุ่มย่อยดังนี้

          1. สมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น เหง้าขิง ผลดีปลี ดอกกานพลู ผลพริกไทย ต้นกะเพรา

          2. สมุนไพรที่มีกรดอินทรีย์ซึ่งมีรสเปรี้ยว ได้แก่ เนื้อฝักมะขามแก่ น้ำมะนาว ผลมะขามป้อม ผลบ๊วย ผลมะนาวดอง

          3. สมุนไพรอื่น ๆ ที่แสดงฤทธิ์ในการบรรเทาอาการไอได้ดี และมีกลไกการออกฤทธิ์อื่น ๆ ได้แก่ ผลมะแว้งเครือ ผลมะแว้งต้น ใบเสนียด เมล็ดเพกา เป็นต้น

          เอาล่ะค่ะ คราวนี้มาดูกันว่า สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ แต่ละชนิด เด่นในด้านไหน แล้วรับประทานอย่างไรจะช่วยบรรเทาอาการไอได้ไม่แพ้ยา


สมุนไพรแก้ไอ

1. มะนาว

          มะนาวมีฤทธิ์เป็นกรดอินทรีย์ มีรสเปรี้ยว ช่วยบรรเทาอาการอักเสบในลำคอได้ โดยในตำรับยาไทยนิยมใช้ทั้งน้ำคั้นจากผลสด ผสมเกลือเล็กน้อย เติมน้ำอุ่นอีกสักหน่อย แล้วจิบแก้ไอ นอกจากนี้ยังมีการใช้ผลมะนาวแห้ง นำไปดอง แล้วจิบน้ำมะนาวดองเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เพราะในมะนาวมีวิตามินซีค่อนข้างสูงนั่นเอง

สมุนไพรแก้ไอ

2. มะขามป้อม

          มะขามป้อมอุดมไปด้วยวิตามินซีและสารกลุ่มแทนนิน แถมรสเปรี้ยวของมะขามป้อมยังช่วยละลายเสมหะและบำรุงเสียงได้ดี โดยหากต้องการใช้มะขามป้อมแก้ไอก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการนำมะขามป้อมไปคั้นหรือต้มแล้วนำมาดื่ม หรือจะนำมะขามป้อมไปอมกับเกลือเฉย ๆ ก็ได้ ซึ่งการอมมะขามป้อมนอกจากจะช่วยแก้ไอและละลายเสมหะแล้ว ยังทำให้เราชุ่มคอ และช่วยบำรุงเสียงให้ใส ป้องกันเสียงแห้งอีกด้วยค่ะ 

สมุนไพรแก้ไอ

3. ขิง


          ขิงเป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อน ในตำรายาไทยใช้เหง้าขิงแก่ทั้งสดและแห้ง เป็นยาขับลม แก้อาเจียน แก้ไอ ขับเสมหะ และขับเหงื่อ โดยใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำหรือใช้ผงขิงแห้งชงน้ำดื่ม  

สมุนไพรแก้ไอ

4. มะขาม


          สารสำคัญในมะขามคือ กรดทาร์ทาริก (Tartaric) มีฤทธิ์บรรเทาอาการไอ แก้อักเสบ โดยวิธีใช้ก็เพียงนำฝักแก่ของมะขามเปียกมาจิ้มเกลือรับประทาน หรือนำมะขามเปียกมาต้มกับน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย จะได้ยาขับเสมหะที่มีรสกลมกล่อม ทว่าเนื่องจากมะขามเปียกก็มีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะเดี๋ยวจะถ่ายท้องนะคะ

สมุนไพรแก้ไอ

5. กระเทียม
          กระเทียมเป็นสมุนไพรรสเผ็ดร้อน ช่วยขยายทางเดินหายใจ ทำให้หายใจสะดวกขึ้น อีกทั้งกระเทียมยังมีฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบ กระเทียมจึงเป็นสมุนไพรอีกตัวที่ช่วยบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะได้ โดยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไอมากขึ้น แนะนำให้ใช้กระเทียมและขิงสดอย่างละเท่ากัน ตำละเอียดแล้วละลายกับน้ำอ้อยสด เสร็จแล้วคั้นจนได้น้ำสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดมาจิบแก้ไอ ขับเสมหะ และทำให้เสมหะแห้ง หรือจะคั้นกระเทียมกับน้ำมะนาว แล้วเติมเกลือใช้จิบหรือกวาดคอก็ได้

สมุนไพรแก้ไอ

6. มะเขือเปราะ


          มะเขือเปราะหรือมะเขือแจ้ มีฤทธิ์ช่วยลดไข้ ลดอาการอักเสบ แก้ไอ แก้พิษร้อนในร่างกาย  แถมยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกต่างหาก ถ้ามีติดครัวในบ้านอยู่ก็ลองนำมะเขือเปราะมาจิ้มน้ำพริกกินแก้ไอได้เลยค่ะ

สมุนไพรแก้ไอ

7. พริกไทยดำ


          พริกไทยดำมีความเผ็ดร้อน ช่วยขับลมไล่สิ่งขจัดขัดขวางทางเดินหายใจได้ดีเยี่ยม จึงทำให้จมูกโล่งและหายใจได้คล่องขึ้น แต่สูตรแก้ไอด้วยพริกไทยดำควรมีน้ำผึ้งเป็นตัวช่วยด้วย เนื่องจากน้ำผึ้งมีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะชนิดอ่อน ช่วยฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรีย สูตรนี้จึงเหมาะมากกับคนที่มีอาการไอแบบมีเสมหะและมีน้ำมูก

          วิธีชงก็ไม่ยาก เพียงแค่ผสมพริกไทยดำสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะในน้ำร้อนจัด 1 แก้ว จากนั้นก็เติมน้ำผึ้งแท้ลงไป 2 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน เสร็จแล้วก็ปิดฝาแก้วทิ้งไว้ 15 นาที กรองเอากากออกแล้วก็ดื่มทันที อาการไอแบบมีเสมหะก็จะหายไป แต่สูตรนี้ไม่เหมาะกับอาการไอแห้งนะคะ
สมุนไพรแก้ไอ

8. สับปะรด

          สับปะรดจัดเป็นผลไม้ฉ่ำน้ำที่มีรสหวานอมเปรี้ยว ช่วยเพิ่มความชุ่มคอในคนที่มีอาการไอแห้ง ๆ โดยถ้ามีอาการเจ็บคอร่วมด้วยอาจดื่มน้ำสับปะรดผสมเกลือเล็กน้อย หรือจะกินสับปะะรดเป็นชิ้น ๆ จิ้มเกลือก็ได้เช่นเดียวกัน ทว่าหากยังท้องว่าง ไม่ได้กินอะไร ก็อย่าเพิ่งกินสับปะรดนะคะ เพราะเอนไซม์ในสับปะรดอาจกัดกระเพาะเอาได้ ดังนั้นกินสับปะรดแก้ไอหลังมื้ออาหารจะดีที่สุด ได้ทั้งบรรเทาอาการคอแห้ง ไอแห้ง ๆ อีกทั้งยังได้เอนไซม์ในสับปะรดช่วยย่อยอาหารให้ด้วย 

สมุนไพรแก้ไอ

9. บ๊วย

          ผลบ๊วยเป็นพืชสมุนไพรซึ่งมีกรดผลไม้ที่มีฤทธิ์ในการเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ช่วยบรรเทาอาการไอ เคลือบเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดอาการระคายเคือง โดยนำผลบ๊วยมาต้มกับน้ำแล้วจิบเป็นยาแก้ไอ หรือจะอมผลบ๊วยให้ชุ่มคอเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองที่คอก็ได้เช่นกัน

สมุนไพรแก้ไอ

10. กระเจี๊ยบแดง


          กระเจี๊ยบแดงมีสารอาหารค่อนข้างมาก ทั้งเพกติน วิตามินซี วิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระชนิดแอนโทไซยานิน จึงมีสรรพคุณช่วยแก้อักเสบ และเมื่อนำกลีบดอกกระเจี๊ยบแดงมาต้มเป็นน้ำสมุนไพร น้ำกระเจี๊ยบก็จะออกรสเปรี้ยวอมหวาน มีสรรพคุณทำให้ชุ่มคอ ลดอาการระคายเคืองและช่วยบรรเทาอาหารไอได้

สมุนไพรแก้ไอ

11. มะแว้งต้น/มะแว้งเครือ
          มะแว้งต้นหรือมะแว้งเครือ เป็นสมุนไพรที่มีวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และมีสารสำคัญคืออัลคาลอยด์ ชนิดโซลาโซดีน (Solasodine) และโซลานีน (Solanine) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและระบบการหายใจ จึงช่วยบรรเทาอาการไอได้ นอกจากนี้ ในผลมะแว้งต้นและมะแว้งเครือยังมีสารลิกนิน (Lignin) และซาโปนิน (Saponin) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนยาปฏิชีวนะช่วยระงับการอักเสบและละลายเสมหะได้ดี

          โดยการใช้มะแว้งแก้ไอตามตำรับยาแผนโบราณจะใช้ผลมะแว้งสด 5-6 ผล ล้างให้สะอาด นำมาเคี้ยวอมไว้ กลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายกากทิ้ง หรือจะกลืนทั้งน้ำและเนื้อก็ได้ หรือจะใช้ผลแก่สด 5-10 ผล นำมาโขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือเล็กน้อย ใช้จิบบ่อย ๆ เวลาไอ สำหรับเด็กจะใช้น้ำที่คั้นจากผลมะแว้ง เป็นน้ำกระสายยา กวาดคอแก้ไอและขับเสมหะ

          ทว่าในปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม สานต่อภูมิปัญญาไทย ผลิต "ยาอมมะแว้ง" เป็นยาสามัญประจำบ้านและบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยนำตำรับยาประสะมะแว้งมาพัฒนาแล้วผลิตตามกระบวนการมาตรฐาน GMP ตั้งแต่การคัดเลือกและตรวจสอบวัตถุดิบ จนได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป มีการควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสีแกมมาตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) แล้วตรวจสอบไม่ให้มีเชื้อที่ทำให้เกิดโรคปนเปื้อน คือ Pathogenic bacteria 4 ชนิด (E. coli, S. aureus, P. aeruginosa, Salmonella) รวมทั้งยีสต์และเชื้อราด้วย จึงจะนำออกวางจำหน่ายได้

สมุนไพรแก้ไอ

12. ดอกดีปลี
            ดอกดีปลีเป็นพืชสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย ช่วยในระบบทางเดินหายใจให้ทำงานสะดวกขึ้น ลดอาการระคายเคือง แก้ไอได้ โดยใช้ดีปลีประมาณครึ่งผล ตำละเอียด แล้วเติมน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย กวาดคอหรือจิบบ่อย ๆ

ชะเอมเทศ


13. ชะเอมเทศและอำมฤควาที

          ชะเอมเทศถูกบรรจุไว้ในตำรับยาสามัญประจำบ้านหลายตำรับ และที่สำคัญคือตำรับยาแก้ไออำมฤควาทีที่ใช้ชะเอมเทศจำนวนมากกว่าตัวยาอื่น ๆ โดยตัวยาประกอบด้วยรากไคร้เครือ โกฐพุงปลา เทียนขาว ลูกผักชีลา เนื้อลูกมะขามป้อม เนื้อลูกสมอพิเภก หนักสิ่งละ 7 ส่วน ชะเอมเทศหนัก 43 ส่วน นำส่วนผสมทั้งหมดบดเป็นผง เวลาใช้ให้ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือ ใช้จิบหรือกวาดคอแก้ไอขับเสมหะ

          ทั้งนี้การใช้ตำรับยาแก้ไอชะเอมเทศและอำมฤควาที ก็มีข้อควรระวังบางประการ เช่น หากใช้มากเกินไปอาจเกิดอาการท้องเสียได้ หรือควรระวังการใช้ยาตำรับนี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากการบริโภครากชะเอมเทศต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ และเพิ่มความดันโลหิตให้สูงเกินปกติได้

          สมุนไพรทั้ง 13 ชนิดนี้มีฤทธิ์เพียงช่วยบรรเทาอาการไอได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถรักษาถึงต้นเหตุของอาการไอได้ ดังนั้นหากมีไข้ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ ก็ควรเข้ารับการรักษาแผนปัจจุบันร่วมด้วย
          นอกจากนี้การรับประทานยาสมุนไพรแก้ไอในแบบสำเร็จรูป ยังควรต้องระมัดระวังในเรื่องของน้ำตาลที่ผสมมากับตัวยา หรือมีปริมาณเกลือแกงผสมอยู่มากเกินไป ดังนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต หรือบุคคลที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลและเกลือในร่างกายก็ควรต้องตรวจสอบฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ดีก่อนซื้อยาสมุนไพรมารับประทาน หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ
ศูนย์พัฒนาอนามัยพื้นที่สูง กรมอนามัย
เฟซบุ๊ก กรมอนามัย
มูลนิธิสุขภาพไทย
Reader’s digest