3 ขั้นตอน การทำเกษตร ที่ทำแล้วไม่มีวันจน แต่คนส่วนใหญ่มองผ่าน

รู้ไหมทำไมทำเกษตรแล้วจน...ก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า

ปุ๋ย-ยาแพง ค่าแรงงานแพง พันธุ์พืชราคาแพง ผลผลิตไม่ได้ราคา ภัยแล้ง-น้ำท่วม

   ซึ่งถ้าไม่ได้อยู่ในวงการเดียวกัน เราก็จะเชื่อว่ามันจริงเพราะใครๆ ก็บอกอย่างนี้ทั้งนั้น แต่มันไม่จริง เพราะเหตุผลที่พูดมาทั้งหมด มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกษตรกรหรือทุกอาชีพจนก็คือ “รูรั่วของชีวิต” ซึ่งขณะนี้สังคมกำลังถูกกลืนโดยสื่อ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ อินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ต่างๆ หรือ ที่เราเรียกว่า “สังคมบริโภคนิยม” แทบทุกอาชีพใช้จ่ายกันเกินตัว มีรูรั่วทั้งร่างกายเลยก็ว่าได้ ยิ่งถ้าเป็นเมืองใหญ่ๆ จะยิ่งเห็นชัด โดยเฉพาะเวลาขึ้นรถโดยสารหรือตามห้างฯหรือสวนหย่อม เราจะเห็นคนอยู่ในโลกส่วนตัวโดยไม่สนใจคนอื่นเลย เช่น หูก็เสียบหูฟัง ตาก็จ้องจอ(มือถือ/แท็บเล็ต/ไอแพด) ในขณะที่มือก็เขี่ยไปเรื่อยๆ ผมเรียกมันว่า “สังคมก้มหน้า” นี่แหละโลกยุค “ไร้พรมแดน” พอทุกคนเสพสื่อมากๆ เข้าก็อยากเลียนแบบ อยากได้สิ่งต่างๆ ที่สื่อนำเสนอ ที่เห็นชัดที่สุดคือตอนเขาเปิดตัวโทรศัพท์ ไอโฟน รุ่นใหม่ที่ออกมา จะมีคนไปนอนรอเพื่อซื้อให้ได้ นี่มันเกิดอะไรขึ้น!!?

   เคยคิดที่จะไปนอนรอทำงานบ้างไหม หรือ ถ้ามีญาติป่วยจะไปนอนเฝ้าเหมือนรอร้านขายโทรศัพท์เปิดไหม ฉะนั้นทุกคนถูกครอบงำให้ “อยากมี อยากได้ อยากเป็น” ยกเว้น “อยากตาย” จึงต้องหาเงินมาเพื่อซื้อเพื่อบำเรอหรือเพื่ออวดว่า “ฉันก็มีนะ” ฉันก็ทันสมัยนะ เช่น ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ต่างก็มีโทรศัพท์มือถือกันแทบทุกคน พอผมถามว่ามีไปทำอะไร ตอบว่ามีไว้ติดต่อได้ ลุกหลานมีธุระใครติดต่อก็สะดวก จริงในแง่นั้นแล้วที่บ้านมีกี่เครื่อง?มีคนละเครื่อง ทุกเครื่องมีค่าใช้จ่ายมั้ย? ไปคิดต่อเอาเอง นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น พอทุกคนถูกครอบงำทำให้เกิดความอยากได้ อยากมี อยากอวดก็ต้องหาเงินมาซื้อ เงินรายได้ไม่พอก็ต้องหาหยิบยืม หากู้ หรือ รูดบัตร(ถ้ามี) บางคนถึงกับอยากรวยทางลัด เช่น ซื้อหวย เล่นการพนัน หรือกระทั่งขายยาเสพติดก็เอา นี่คือรูรั่วที่เกือบทุกคนมี ฉะนั้นสิ่งแรกที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นไม่ใช่การเพิ่มรายได้ เพราะถ้ายิ่งมีรายได้เพิ่ม รูรั่วก็จะยิ่งขยายใหญ่ขึ้นจะยิ่งจน หนทางเดียวที่จะหายจน คือ ต้องอยู่อย่าง “อดอยาก” ทุกวันนี้เราไปแปลคำว่า “อดอยาก” ว่า “ไม่มีจะกิน” แต่ความจริงแล้วคำว่า “อดอยาก” มาจากคำว่า “อด” กับคำว่า “อยาก” ซึ่งแปลว่าให้อด(ลด)ความอยากลงบ้าง ที่จนทุกวันนี้เพราะเรา “อยากเยอะ” ถ้าเราไม่ลดความอยากลง ต่อให้มีรายได้มากแค่ไหนก็จะจน เพราะความอยากล้ำหน้าแล้วความจนจะตามมา เมื่อลดความอยากลงได้แล้วอาจโดยการทำบัญชีครัวเรือน จดทั้งรายรับ-รายจ่าย พอครบเดือนมาหักลบกลบกันดู จะเห็นว่าชีวิตเราอยู่ได้หรือไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ “ลดรายจ่าย” ให้ได้ก่อนโดยลดความอยากหรือกดข่มความอยากไว้ก่อนอย่าให้มันออกมามีอำนาจเหนือเรา เมื่อลดรายจ่ายได้จะเกิด “รายเหลือ” ขึ้นทันที ชีวิตก็จะดีขึ้นตาม เมื่อทำได้แล้วหลังจากนั้นค่อยมาหาทางเพิ่มรายได้ ถ้าทำได้อย่างนี้ “หายจนแน่ครับ”

   ฉะนั้นเหตุผลที่เกษตรกรส่วนใหญ่บอกมาว่าที่ทำให้จนนั้นยังไม่ถูกต้อง ยิ่งในยุคที่คน “บูชาเงิน” หรือ “บูชาคนมีเงิน” โดยไม่สนที่มาของเงินที่มีว่า มีเพราะอะไร? ยิ่งไปกันใหญ่ เกษตรกรส่วนใหญ่จะเอาเงินเป็นตัวตั้ง เช่น ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจำนวนมาก ๆ เมื่อขายจะได้เงินเยอะๆ แล้วจะเอาเงินนั้นมาซื้อทุกๆอย่าง ที่อยากได้ ทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างไม่จบสิ้น เช่น ผลผลิตล้นตลาดหรือเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงมา เชื้อราบุก ฯลฯ จะทำอย่างไร? การปลูกพืชเชิงเดี่ยวจึงก่อให้เกิดความเสี่ยงสูง เกษตรกรควรที่จะลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวลง และอย่าเน้นแต่ทำขายหันมาใส่ใจทำกิน ไม่ใช่เป็นชาวนาขายข้าวเปลือกจนหมดแล้วต้องมาซื้อข้าวสารกิน หรือ เป็นเกษตรกรแล้วต้องมาซื้อ พริก โหระพา ตะไคร้ ใบมะกรูด ฯลฯ ถ้าอย่างนี้ถือว่าล้มเหลว


การทำเกษตรต้องทำเป็น 3 ขั้น คือ

ปลูกเพื่อเรียนรู้ : การจะปลูกพืชอะไรต้องปลูกเพื่อเรียนรู้ก่อน ไม่ปลูกเยอะ พยายามเรียนรู้ให้เข้าใจในพืชนั้นๆ เรียนรู้ทั้งเรื่องของการเจริญเติบโต อายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต โรค-แมลงต่างๆ ปุ๋ย ยา เมื่อปลูกน้อยๆ แล้วเรียนรู้จนแน่ใจแล้วจึงค่อยขยายเพิ่มอย่าเริ่มปลูกมากๆ โดยยังไม่รู้จักมัน มันจะพาจน

ทำให้ออกในช่วงแพง : หรือ นอกฤดู คือ เมื่อเราปลูกขั้นแรกจนเรียนรู้เข้าใจดีแล้ว เราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะทำให้มีผลผลิตในช่วงราคาแพง หรือ ทำนอกฤดู เพื่อขายได้ราคาดี ไม่มีปัญหาในด้านการตลาด

ขายผลพลอยได้ : คือ ทำพันธุ์ขายทั้ง เมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ เพาะกล้า หรือ แม้กระทั่งแปรรูปผลผลิต การขายผลพลอยได้ จะช่วยสร้างรายได้ ได้มาก อาจได้มากกว่าขายผลผลิตด้วยซ้ำ

การทำการเกษตรให้หายจน ต้องปลูกพืชเป็น 3 ระยะ จะหายจน เลี้ยงปลา ไก่ เป็ด จะมีกิน โดยเลี้ยงแบบธรรมชาติไม่เลี้ยงด้วยหัวอาหาร เช่น เลี้ยงด้วยหอยเชอรี แหน เศษอาหาร ผลไม้ ที่เหลือในสวน

เครดิต รักบ้านเกิด