Home »
ธรรมะ
»
อ่านแล้วดีมาก เมื่อเปลี่ยนศัตรู ให้เป็นมิตร
อ่านแล้วดีมาก เมื่อเปลี่ยนศัตรู ให้เป็นมิตร
อ่านแล้วดีมาก เมื่อเปลี่ยนศัตรู ให้เป็นมิตร
มีคุณป้าคนหนึ่งเดินกลับบ้านหลังจากไปจ่ายตลาด
สองมือถือของพะรุงพะรัง ทางเดินกลับบ้านนั้นเป็นซอยเปลี่ยว
สักพักก็สังเกตว่ามีผู้ชายสองคนเดินตามมาติด ๆ ตั้งแต่ปากซอย
คุณป้ารู้แน่ว่ากำลังจะถูกจี้ จะร้องให้ใครช่วยก็ไม่มีประโยชน์
จะวิ่งหนีก็ไม่ทัน เพราะของเยอะและอายุมากด้วย
จึงไม่มีทางอื่นนอกจากเดินไปเรื่อยๆ ทำทีเหมือนปกติ
ส่วนสองคนนั้นก็เข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกือบจะประชิดตัว
ถ้าเราเป็นคุณป้าจะทำอย่างไร
พอสองคนนั้นเดินมาเกือบถึงตัวคุณป้า
แกก็หยุดและหันมาหาสองคนนั้น ยิ้มให้แล้วยื่นของให้ทั้งสองมือ
พร้อมกับพูดว่า “โชคดีจังเลย ฉันกำลังต้องการคนช่วยอยู่พอดี
พ่อหนุ่มช่วยถือของให้ฉันหน่อยสิ” สองคนนั้นไม่ทันตั้งตัว
พอคุณป้าบอกให้ช่วยถือของ ก็เลยยื่นมือไปรับของอย่างง ๆ
ส่วนคุณป้าก็ขอบอกขอบใจเขาเป็นการใหญ่ “ขอบคุณมากพ่อหนุ่ม
เธอเป็นสภาพบุรุษเหลือเกิน” แล้วก็ชวนทั้งสองคุยไปตลอดทาง
ชายหนุ่มสองคนนั้นเดิมตั้งใจว่าจะมาจี้เอาเงินคุณป้า
แต่ถึงตอนนี้กลายเป็นสุภาพบุรุษจำเป็นไปแล้ว พอเดินถึงบ้าน
คุณป้าก็ยื่นมือไปรับของนั้น แล้วขอบอกขอบใจอีก สองคนก็ส่งคืนให้คุณป้า
โดยเปลี่ยนใจไม่ทำอะไรคุณป้า เพราะถึงตอนนั้นก็รู้จักคุณป้าแล้ว
จึงจี้ไม่ลง กลายเป็นว่าคุณป้านอกจากจะปลอดภัย ไม่เสียทรัพย์แล้ว
ยังมีคนช่วยถือของมาส่งถึงบ้านด้วย
มีนักธุรกิจเล่าว่า
ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ เธอตกงาน หางานทำลำบาก
จึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่เมืองบอสตัน ประเทศอเมริกา
ตอนนั้นเธอมีเงินไม่มากจึงต้องประหยัด อาหารก็ต้องทำกินเอง
โดยทำคราวเดียวกินทั้งอาทิตย์เลย ส่วนใหญ่ก็ทำไข่เป็นหลัก เพราะถูกดี
พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ก็ไปจ่ายตลาดใกล้ ๆ หอพัก
เช้าวันเสาร์
เธอออกไปจ่ายตลาดเช่นเคย
ขณะที่รอไฟเขียวบนเกาะกลางถนนก็มีชายผิวดำเอามีดมาจี้เอวแล้วบอกให้เธอเอาเงินมา
เธอก็ยื่นกระเป๋าเงินให้ เขาค้นกระเป๋าพบว่ามีเงินแค่
๒o ดอลลาร์
ก็ไม่พอใจ ถามหานาฬิกาและสร้อยคอ เธอก็บอกว่าไม่มี คนดำนั้นไม่เชื่อ พูดว่า
“คุณเป็นคนเอเชียไม่ใช่เหรอ คนเอเชียมาเรียนที่นี่ได้ต้องรวย” เธอก็ตอบว่า
“คนอื่นอาจจะใช่ แต่ฉันน่ะไม่ใช่หรอก ฉันได้ทุนมา”
เขาถามต่อว่า
“คุณจะไปไหน” เธอตอบว่า “จะไปซื้อไข่ฝั่งตรงข้าม” เขาสงสัยว่าเงินแค่ ๒๐
ดอลลาร์จะพอหรือ เธอตอบว่า “เหลือเฟือเพราะไข่โหลละ ๒ ดอลล่าร์เอง”
เขาสงสัยว่าเอาไข่ไปทำอะไร เธอตอบว่า “เอาไปต้มกินได้ทั้งอาทิตย์”
ระหว่างที่คุยกันอยู่
ยามที่หน้ามหาวิทยาลัยเห็นผิดปกติจึงหูโทรศัพท์เรียกตำรวจ
เธอจึงรีบโบกมือแล้วพูดว่า “ไม่ต้อง ไม่ต้อง เราเป็นเพื่อนกัน”
ยามก็เลยวางหูโทรศัพท์ แล้วทำงานอื่นต่อ
ชายผิวดำคนนั้นได้ยินก็งง
ถามเธอว่า “เรารู้จักกันตั้งแต่เมื่อไหร่” เธอตอบว่า
“ก็เพิ่งรู้จักกันเมื่อกี้ไง” ถึงตอนนี้คนดำก็เริ่มเปลี่ยนท่าที
แล้วก็คุยกับเธอต่อ
ตอนหนึ่งเธอแนะนำตัวว่ามาจากประเทศไทยซึ่งกำลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจ
จนไอเอ็มเอฟเข้ามาควบคุม เธอบอกเขาว่า “พวกคุณผิวดำยังดีนะ
เป็นแค่พลเมืองชั้นสอง ส่วนฉันนี่สิ เป็นทาสต่างชาติแล้วรู้ไหม”
คุยไปคุยมา
ชายผิวดำคนนั้นรู้สึกเห็นใจเธอมาก นอกจากคืนกระเป๋าเงินให้แล้ว
ยังพาเธอไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตอีกด้วย ซื้อไข่ อาหาร และขนมให้เธอรวม ๓
ถุงใหญ่ และแถมเงินให้เธออีก ๕๐ ดอลลาร์ พร้อมกับหิ้วของมาส่งเธอที่หอพัก
หญิงไทยคนนี้ก็แน่เหมือนกัน
วันรุ่งขึ้นเธอไปเยี่ยมเขาที่บ้าน พร้อมกับหอบของที่ซื้อเมื่อวานเอาไปด้วย
เพื่อสอนภรรยาเขาทำต้มยำกุ้งและผัดไทย ซึ่งเป็นอาหารที่ฝรั่งชอบมาก
เสร็จแล้วก็นอนค้างบ้านเขา นับแต่นั้นมาเธอก็คุ้นเคยกับครอบครัวของเขามาก
เวลาไปบอสตันก็จะไปเยี่ยมเยือนเขาและครอบครัวเป็นประจำ
ทั้งสองเรื่องนี้ให้แง่คิดที่ดีมาก
เพราะว่าปกติคนเราเมื่อถูกโจรจี้ ถ้าไม่ยอมก็มักจะต่อสู้ขัดขืน
พอต่อสู้ขัดขืนก็เจ็บตัวถึงตายก็มี
ดังนั้นจึงมักลงเอยด้วยการเสียทรัพย์หรือไม่ก็เจ็บตัวด้วย
แต่ว่าทั้งสองกรณี นอกจากไม่เสียเงินแล้วยังได้เพื่อนด้วย ทั้ง ๆ
ที่เดิมเจอคนที่มุ่งร้าย แต่สุดท้ายสามารถเปลี่ยนเขาให้กลายเป็นมิตรได้
ทั้งสองกรณีให้แง่คิดหลายอย่าง
ข้อแรกก็คือแม้แต่คนที่มุ่งร้ายต่อเราก็มีความดีในตัว
หากเราสามารถกระตุ้นหรือชักชวนความดีนั้นให้ออกมา
ก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้ อย่างวัยรุ่นสองคน เขาก็มีความดีอยู่
สิ่งที่คุณป้าทำก็คือเปิดโอกาสให้เขาทำความดี
หรือทำให้เขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องทำความดีโดยไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว
เหตุการณ์ที่สองก็เช่นกัน
ในด้านหนึ่งก็ได้เห็นน้ำใจของหญิงสาวว่า ขนาดถูกชายผิวดำปล้นชิงทรัพย์
เธอก็ยังบอกยามหน้ามหาวิทยาลัยว่า เขาเป็นเพื่อนเธอ
นี้เป็นความดีที่ประทับใจชาวผิวดำ และดึงเอาความดีในตัวเขาออกมา
ดังนั้นแทนที่จะขู่เข็ญเอาเงินหญิงสาว กลับมีน้ำใจสละเงินให้เธอ
เห็นได้ว่าความดีของคน ๆ หนึ่งสามารถดึงเอาความดีของอีกคนออกมาได้
แม้คนนั้นจะเป็นโจรหรือผู้ร้ายก็ตาม
ทั้งสองกรณีมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน
คือทั้งคุณป้าและสาวไทยไม่กลัวและไม่มองคนที่จะมาจี้ว่าเป็นศัตรู
ถ้ามองว่าเขาเป็นศัตรูแล้ว ก็ต้องโกรธเกลียดและคิดหาทางต่อสู้
แต่ว่าทั้งสองไม่ได้มองอย่างนั้นเลย กลับมีความเป็นมิตร หรือความปรารถนาดี
ตรงนี้สำคัญมาก
ถ้าเรามองเห็นใครเป็นศัตรูแล้วก็จะมีความเกลียดความโกรธหรือความกลัว
สุดท้ายก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงหรือใช้วิธีการอะไรก็ได้เพื่อจัดการกับคนเหล่านั้น
แต่พอมองว่าใครเป็นมิตรแล้ว
ก็จะมีท่าทีเป็นมิตรกับเขา ท่าทีดังกล่าวจะเอาชนะใจคนที่มุ่งร้ายได้
นอกจากท่าทีเป็นมิตรแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การมีสติ
ถ้าไม่มีสติก็จะเกิดความกลัวได้ง่าย คนเราเวลาถูกจี้ก็จะกลัว
กลัวสูญเสียเงิน กลัวถูกทำร้าย ความกลัวทำให้เกิดความตื่นตระหนกตามมา
แล้วมักลงเอยด้วยการใช้ความรุนแรงด้วยกายหรือด้วยวาจา
ซึ่งทำให้เกิดอันตรายตามมา
จะว่าไปแล้ว
สิ่งที่เราถือว่าเป็นศัตรูไม่ได้มีแต่มนุษย์หรือสัตว์ร้ายเท่านั้น
หากยังรวมไปถึงสิ่งอื่นที่เป็นนามธรรมด้วย เช่นความทุกข์ ความสูญเสีย
ความพลัดพราก ความเจ็บความป่วย สิ่งเหล่านี้คนทั่วไปมองเสมือนศัตรู
เพราะมันทำให้เราเป็นทุกข์ เดือดเนื้อร้อนใจ
สิ่งเหล่านี้แหละที่คอยตามจี้เราอยู่ตลอดเวลา
ถ้าไม่เจอวันนี้ก็ต้องเจอวันหน้า หรือว่าเจอแล้วก็เจออีก
แต่ถ้าเราลองเอาบทเรียนสองเหตุการณ์นี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์
ก็จะพบสิ่งที่เป็นศัตรูไม่ว่าคนก็ตาม เหตุการณ์ก็ตาม
สามารถเป็นมิตรกับเราได้ ขอเพียงแต่เรามีสติหรือรู้จักมองให้เป็น
ยกตัวอย่าง
ความเจ็บป่วย ก็มีประโยชน์ สามารถเป็นมิตรกับเราได้ เช่น
ช่วยให้เราเห็นธรรมะ เห็นสัจธรรมของชีวิต ถ้าไม่เจ็บไม่ป่วยเราก็อาจประมาท
หมกมุ่นกับความสนุกสนาน ปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้ประโยชน์
คนที่มีสุขภาพดีจำนวนไม่น้อย ไม่เห็นคุณค่าของการมีสุขภาพดี
ใช้ร่างกายเปล่าเปลือง ใช้อย่างสมบุกสมบันในทางที่ไร้ประโยชน์
กว่าจะเห็นโทษหรือรู้ตัว บางทีก็สายไปแล้ว เพราะว่าป่วยหนัก เป็นมะเร็ง
เป็นโรคหัวใจ หรือพิการ ใกล้ตาย
แต่คนเจ็บคนพิการ
เขาไม่อยู่ในสถานะที่จะใช้ร่างกายและเวลาให้เปล่าเปลืองได้
ดังนั้นจึงทำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด อย่างเช่น
ไปเที่ยวไม่ได้ก็เลยต้องมาปฏิบัติธรรม หลายคนที่มีปัญญาไปเที่ยว
มีเวลาไปงานสังสรรค์
มักจะหมดเวลาไปกับเรื่องนี้จนไม่มีเวลาเหลือสำหรับการทำสิ่งที่มีคุณค่า
เช่น การปฏิบัติธรรม
คนเรามักเห็นความป่วยความพิการเป็นศัตรู
จึงพยายามหนี พยายามต่อสู้ขัดขืนทุกวิถีทาง แต่ถ้าหากว่าต้องเจอเข้ากับตัว
แล้วใช้สติปัญญารับมือกับมัน ก็สามารถใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้
โดยเฉพาะประโยชน์ในทางธรรมะ ความตายก็เหมือนกัน
คนส่วนใหญ่มองความตายราวกับศัตรู พยายามหนี พยายามต่อสู้
แต่ความตายก็สามารถเป็นมิตรได้เหมือนกัน เป็นมิตรอย่างไร
ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้อย่างจำกัด เพราะฉะนั้น
เราต้องใช้เวลาที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเราเองกับคนอื่น
หมั่นทำคุณงามความดีขณะที่ยังมีลมหายใจ
ความตายยังเตือนให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท
ไม่มีอะไรที่เตือนให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาทได้ดีเท่ากับความตาย
เมื่อใดที่ระลึกถึงความตาย เราจะรู้สึกเลยว่า
มีสิ่งสำคัญหลายอย่างในชีวิตที่เราต้องเร่งทำ เพราะหากไม่รีบทำ
อาจไม่มีโอกาสเลยก็ได้ แต่ในชีวิตจริงสิ่งสำคัญเหล่านี้ผู้คนมักละเลย
มัวไปทำอย่างอื่นเสีย กว่าจะรู้ตัวก็อาจสายไปแล้ว
ความตายเป็นเสมือนเพื่อนที่จะเตือนเราจริงๆจังๆ
ไม่ให้ผัดผ่อนละเลยสิ่งเหล่านี้
ใหม่ ๆ เราอาจกลัวความตาย
ไม่สามารถมองเป็นเพื่อนได้ อันนี้ธรรมดาแต่ถ้ารู้จักความตายดีพอ
ก็มองความตายเป็นเพื่อนได้
เมื่อมองว่าเป็นเพื่อนแล้วจะเกิดความไม่ประมาทตามมา
ตระหนักว่าต้องใช้ชีวิตใช้เวลาโดยรู้จักจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ
รวมทั้งมีความฉลาดในการมองเห็นประโยชน์จากสิ่งที่ใครๆมองว่าเป็นปัญหา
ถ้าเรามองแบบนี้ก็จะพบว่าสิ่งไม่พึงปรารถนาที่เราอยากหลีกเลี่ยงล้วนเป็นมิตรที่ช่วยเตือนใจเราหรือช่วยพัฒนาจิตใจของเราให้เข้มแข็งหรือมีสติปัญญามากขึ้น
ยกตัวอย่าง
เวลาเงินหาย คนที่ไม่มีสติก็จะโมโหเสียใจ นึกถึงของที่หายตลอดเวลา
แต่ถ้ามีสติแล้วรู้จักไตร่ตรอง ก็จะเห็นว่ามันก็มีประโยชน์นะ เช่น
ฝึกให้เรารู้จักปล่อยวาง การปล่อยวางเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และฝึกฝน
เพราะเมื่อถึงเวลาที่เราต้องตาย เราต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
ถ้าเราปล่อยวางไม่ได้ จะตายอย่างทุกข์ทรมาน แต่จะปล่อยวางเมื่อวันนั้นมาถึง
ก็ต้องฝึกปล่อยวางเสียแต่วันนี้
ถ้าวันนี้เราปล่อยวางเงินไม่กี่ร้อยไม่กี่พันไม่ได้
วันหน้าเราจะปล่อยวางทรัพย์สมบัติได้อย่างไรในเมื่อต้องสูญเสียทั้งหมดที่มี
มีกี่สิบกี่ร้อยล้านก็ต้องสูญเสียหมด
ไม่สามารถครอบครองหรือเอาไปได้แม้แต่สลึงเดียว
ทุกอย่างกลายเป็นของดีไปหมด
แม้แต่ยุงกัดก็เป็นการฝึกฝนจิตใจเรา ไม่จำต้องหงุดหงิดกับมัน เช่น
ยุงกัดเจ็บ ทำอย่างไรถึงจะทนกับมันได้ ทำไมต้องทนกับมัน
ก็เพราะว่าในอนาคตเราจะต้องเจออะไรที่ร้ายกว่ายุงกัดมากมาย
ถ้าแค่นี้ยังทนไม่ได้
แล้วเราจะรับมือกับสิ่งที่หนักหนาสาหัสในวันข้างหน้าได้อย่างไร
ที่จริงเราทนได้ แต่เป็นเพราะนิสัยที่สั่งสมมา พอยุงกัดเราก็ตบทันที
หรือพอรู้สึกเจ็บเพราะยุงกัดก็หงุดหงิดรำคาญทันที
ลองฝึกดูกายดูใจของเราเวลายุงกัด
กายและใจของเราเป็นอย่างไร มือที่ถูกมันกัดมีอาการอย่างไร มันเกร็ง
มันคันใช่ไหม ส่วนใจก็รู้สึกรังเกียจ เกิดโทสะ อยากตบมันใช่ไหม
นี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เห็นปฏิกิริยาของกายและใจ
ได้ฝึกว่าจะรักษาใจให้เป็นกลางได้อย่างไร จะทำกายให้สงบนิ่งได้อย่างไร
จะดูเฉย ๆ หรือใช้วิธีนี้ก็ได้คือ บริกรรมว่า “ทนได้ สบายมาก”
นี้เป็นคาถาที่อาตมาใช้บ่อย เจออะไรก็ตาม ก็นึกในใจตอนหายใจเข้าว่า “ทนได้”
พอหายใจออกก็ “สบายมาก” หรือก้าวเท้าซ้ายก็ “ทนได้” ก้าวเท้าขวาก็
“สบายมาก”
ถ้าฝึกใจให้อดทน
การรักษาใจให้นิ่งเวลาถูกยุงกัดจะเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่ยากเลย
ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าว่า ท่านเคยนั่งสมาธิในป่าให้ยุงกัด
ยุงมากัดท่านไม่ใช่แค่สิบตัว แต่มีเป็นร้อย ท่านก็นั่งเฉย ๆ
ให้มันรุมกัดจนกระทั่งเลือดไหลมาเป็นหยดเลยเพราะโดนกัดเยอะมาก
บางครั้งท่านก็ฝึกตนเวลาตอกตะปู ตอกตะปูบางครั้งท่านก็พลาด
ค้อนก็ไปถูกนิ้วเข้า ท่านก็ร้องโอ๊ย
ต่อมาท่านตั้งใจฝึกตนว่าถ้าค้อนพลาดไปถูกนิ้ว ท่านจะไม่ร้อง แต่จะยิ้ม
ท่านทำอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็ยิ้มได้ทั้ง ๆ ที่นิ้วเจ็บ
ท่านทำเช่นนั้นได้เพราะอาศัยสติ คือพอเกิดทุกขเวทนาหรือความรู้สึกปวด
ก็ให้มีสติ รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดความเจ็บ พอมีสติมาก ๆ
แม้เจ็บนิ้ว แต่ใจไม่เจ็บด้วย เพราะมีสติเป็นเครื่องรักษาใจ
ในทำนองเดียวกันท่านเคยตั้งข้อสังเกตว่าเวลามีดบาดนิ้ว
จะเจ็บน้อยกว่าเวลารู้สึกว่ามีดบาดฉัน มันต่างกันมากนะ ระหว่างความคิดว่า
“นิ้วถูกมีดบาด” กับ “ฉันถูกมีดบาด”
อันหลังนั้นมีความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูของกู พอมีความรู้สึกว่าตัวกูของกู
ก็จะทุกข์ง่าย พอมีดบาดก็รู้สึกว่ากูถูกมีดบาด พอมีความเจ็บเกิดขึ้น
ก็รู้สึกว่ากูเจ็บ ในทางตรงข้ามถ้าไม่มีตัวกูของกูมาเกี่ยวข้อง จะทุกข์น้อย
เหมือนกับเวลาได้ข่าวว่ามีคนถูกรถชนตาย เราฟังก็รู้สึกเฉยๆ
หรืออย่างมากก็สงสารเห็นใจเขานิดหน่อย
แต่ถ้ารู้ว่าคนนั้นเป็นเพื่อนของเราหรือเป็นญาติของเรา
เราจะตื่นตระหนกหรือเสียใจมาก ทำไมถึงเป็นเช่นั้น
ก็เพราะมีความรู้สึกว่าของเรา
เวลาเราได้ข่าวว่าแผ่นดินไหวที่เสฉวนมีคนตาย
๒,๐๐๐ คน เราฟังก็รู้สึกเฉยๆ มีข่าวว่าเกิดระเบิดที่อิรัก คนตาย ๒o๐ คน
เราฟังแล้วก็เฉยๆ แต่พอมีข่าวว่ามีผู้ชุมนุมตายที่หน้าทำเนียบหนึ่งคน
ความรู้สึกกระเพื่อมขึ้นมาเลย เพราะคนที่ตายนั้นเป็นคนไทย
เป็นเพื่อนร่วมชาติกับเรา หรือเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกับเรา
ความรู้สึกว่า “พวกเรา” ทำให้เป็นทุกข์ เสียใจ หรือโกรธแค้นขึ้นมา
เมื่อยึดติดถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา
เจออะไรมากระทบก็มีความรู้สึกว่า “ฉันทุกข์”
ทันทีเวลาเจอทุกข์เวทนาก็เช่นกัน ไม่ว่าเกิดกับกายหรือกับใจก็ตาม
ถ้ายึดว่ามีตัวกูเมื่อไหร ก็รู้สึกว่า “ฉันเจ็บ” หรือ “ฉันปวด” ทันที
แต่ถ้ามีสติเห็นว่า ทุกขเวทนานั้นเกิดกับกาย ไม่ใช่เกิดกับฉัน
ก็จะรู้สึกว่า “กายปวด” ไม่ใช่ “ฉันปวด” ใจก็ไม่ทุกข์ไม่ปวดตามไปด้วย
สิ่งเหล่านี้ฝึกได้ในชีวิตประจำวัน
ฝึกจากอะไร ฝึกจากความพลัดพรากสูญเสีย
ฝึกจากการประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ฝึกจากทุกขเวนาต่างๆ
ทั้งหมดนี้มันมีคุณทั้งนั้น มันเป็นมิตร มันไม่ใช่ศัตรู ถ้าเรามองให้เป็น
ถ้าเรามองว่ามันเป็นศัตรูเราก็จะเกลียดมัน เราก็จะกลัวมัน เราก็จะหนีมัน
เราก็จะพยายามต่อสู้ขัดขืนมัน ซึ่งทำให้เราทุกข์มากขึ้น เวลายุงกัด
ก็จะร้องในใจว่า “ไม่ไหวๆๆๆ “ ใจก็ทุกข์ แต่พอกำหนดในใจว่า “ ไหวสิๆ”
ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ
นี่คือการฝึกให้เรามีความอดทน
รวมทั้งฝึกให้เรามีสติด้วย ไม่ใช่แค่อดทนอย่างเดียว อดทนอย่างเดียวไม่พอ
ต้องมีสติเข้ามาด้วย ถ้ามีสติแล้วก็ไม่จำเป็นต้องอดทน
เพราะพอเห็นความทุกข์ก็ปล่อยวางมันลงได้ อดทนหมายความว่ายังต้องแบกอยู่
เหมือนกับเราแบกของหนักไว้ ถ้าแบกของหนักเราก็ต้องอดทน
เหมือนกับนักยกน้ำหนักต้องใช้ความอดทนมากเวลาแบกน้ำหนัก
จนครบห้าวินาทีจึงค่อยปล่อย แต่ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องอดทนก็ได้
ถ้าเรามีสติ ก็จะได้คิดว่าแบกทำไม แบกแล้วทุกข์ งั้นปล่อยดีกว่า
ปล่อยแล้วสบาย การปล่อยวางไม่ต้องใช้ความอดทน
และที่เราปล่อยวางมันลงก็เพราะเรามีสติ แต่ที่เราแบกมันทั้ง ๆ
ที่หนักก็เพราะเราไม่มีสติ ก็เลยต้องใช้ความอดทนเข้ามาประคองเอาไว้
แต่ถ้าปล่อยหรือวางเมื่อไหร่ ก็ไม่มีอะไรที่ต้องอดทน เพราะมันเบา มันสบาย
นี่คือความต่างระหว่างการใช้ขันติกับการมีสติ
ลองสังเกตดูจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรา
เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกขเวทนา จากความพลัดพรากสูญเสีย เวลาเสียของไป
เราเสียใจ เพราะอะไร เพราะคิดว่าเป็นของเราใช่ไหม
พอเราปล่อยวางไม่ยึดติดว่าเป็นของเรา หรือไม่ยึดติดในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
ก็จะไม่รู้สึกเสียใจอีกต่อไป
บางคนบอกว่ายากมากเลยที่จะปล่อยวางและนึกในใจว่าไม่ใช่ของเรา
แต่ถ้ามองว่าสิ่งที่สูญเสียไปนั้นเป็นอดีตไปแล้ว ยึดไว้ทำไม เอามาคิดทำไม
ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย สิ่งที่เป็นอดีตนั้นแก้ไขไม่ได้แล้ว พอมองแบบนี้
ก็ช่วยให้ปล่อยวางได้เหมือนกัน
แต่เราจะปล่อยวางได้ทันทีหากตระหนักว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา
เราไม่ใช่เจ้าของมัน มันมาอยู่กับเราเพียงชั่วคราว
ตรงนี้เป็นสิ่งต้องฝึกนะ ฟังอย่างเดียวก็ไม่ได้
ต้องฝึกจากเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เราไม่สามารถฝึกได้จากความสุข
ยากที่จะฝึกจากความสำเร็จ ยากที่จะฝึกจากความเพลิดเพลินยินดี ความสุข
ความสำเร็จ ความเพลิดเพลินยินดี คนทั่วไปมองว่าเป็นมิตร แต่มองให้ดี ๆ
มันอาจเป็นศัตรูในคราบมิตรก็ได้ คือทำให้เราประมาท ลุ่มหลง
ตรงข้ามความทุกข์
ความล้มเหลว ความพลัดพรากสูญเสีย ความเจ็บปวด สิ่งเหล่านี้ใคร ๆ
มองว่าเป็นศัตรู แต่ถ้าพิจารณาให้ดีมันคือมิตรที่มาในรูปของศัตรู
เพราะมันสอนให้เราเกิดสติเกิดปัญญา
เห็นแจ้งเข้าใจความจริงของชีวิตจนสามารถปล่อยวางและหลุดพ้นจากความทุกข์ได้
ถ้าเรามองแบบนี้ เราก็จะอยู่กับสิ่งต่างๆที่ไม่พึงปรารถนาได้
ใจของเรามีนิสัยชอบปฏิเสธ
ชอบขัดขืนต่อสู้กับทุกขเวทนา เพราะมันเป็นสิ่งที่เราให้ค่าว่าไม่ดี
ยิ่งเราพยายามปฏิเสธผลักไสมันเท่าไหร่ เราก็จะทุกข์เพราะมันไม่ยอมไปเสียที
ยิ่งทุกข์จิตก็ยิ่งดิ้น แต่ถ้าเรายอมรับมัน จิตก็สงบได้
เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งไม่พึงปรารถนาให้ได้
เพราะมันเป็นธรรมดาของชีวิต อยู่กับมันให้เหมือนอยู่กับมิตร
ยอมรับมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นความผิดพลาด
หรือความไม่สำเร็จ รวมทั้งความพ่ายแพ้ สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาของชีวิต
เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า
เราไม่ควรพัฒนาตน การพัฒนาตนเป็นสิ่งที่ควรทำเต็มที่ แต่หากมีความสำเร็จ
ก็ไม่ควรหลงเพลินกับความสำเร็จเพราะมันจะทำให้เราประมาท
ความสำเร็จนำมาซึ่งโชคลาภ นำมาซึ่งคำสรรเสริญก็จริง
แต่ถ้าเราเพลิดเพลินลุ่มหลงมัน ก็เสียผู้เสียคนได้ง่าย
เหมือนกับนักกีฬาโอลิมปิกหลายคนที่เสียคนเพราะความสำเร็จ
มันจึงเป็นมิตรเทียม ไม่ใช่มิตรแท้
เราลองหามิตรแท้จากความไม่สำเร็จ
หามิตรแท้จากความพ่ายแพ้ หามิตรแท้จากอุปสรรค หรือแม้กระทั่งจากความทุกข์
ความเศร้า ความโศกที่เกิดขึ้นเวลาเราไม่มีสติ
เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็อย่าปฏิเสธหรือกดข่มมัน พยายามรู้เท่าทันมัน
เห็นมันตามที่เป็นจริง รวมทั้งหาประโยชน์จากมัน
ถ้าทำได้อย่างนี้เราจะไม่กลัวความทุกข์ และไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา
ก็ทำให้ทุกข์ใจไม่ได้
ที่มา: visalo