อานิสงส์ มหาศาล ได้บุญมาก 12 วิธีทำบุญ กับ โรงพยาบาล

อานิสงส์ มหาศาล....12 วิธีทำบุญ กับ โรงพยาบาล

คนไทยเราเป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเสมอ มีเมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนอยู่ในหัวใจ นิยมการทำบุญด้วยการให้ทานและช่วยเหลือเผื่อแผ่สงเคราะห์ผู้อื่นอยู่เป็นนิจ ในที่นี้ผมอยากให้ข้อเสนอวิธีการทำบุญแบบใหม่ นอกเหนือจากการทำบุญกับวัด (ทอดกฐิน, ทอดผ้าป่า, ถวายสังฆทาน, ตักบาตร), ทำบุญกับผู้ยากไร้ด้วยการให้ทานบริจาค, การปล่อยนกปล่อยปลา, การถือศีลกินเจ ซึ่งเรานิยมประพฤติปฏิบัติกันมานานแล้ว นั่นคือการทำบุญกับโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่พำนักพักพิง ฝากผีฝากไข้ของผู้คนที่เกิดความเจ็บป่วย ต้องการบำบัดเยียวยาดูแลรักษา รูปแบบดังกล่าวมานี้มีทั้งการสละทรัพย์, สละแรงกาย, สละอวัยวะ, สละปัญญาความคิดเห็น และสละเวลาอันมีค่าของทุกท่าน ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปนี้

1.การบริจาคเงิน ในกรณีมีงานศพหรืองานมงคลสมรส เราพบว่าจะมีเจ้าภาพบริจาคเงินให้เป็นสาธารณะประโยชน์แก่ทางโรงพยาบาลอยู่เนื่องๆโดยนำไปใช้จ่ายตามความจำเป็น

2.การช่วยจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ โรงพยาบาลหลายแห่งโดยเฉพาะในต่างจังหวัด และพื้นที่ทุรกันดารยังขาดแคลนตู้อบเด็ก เครื่องช่วยหายใจ ถังอ็อกซิเจน อุปกรณ์กู้ชีพ และอื่นๆซึ่งสามารถสอบถามได้เป็นที่ๆไปว่ายังขาดเหลืออะไร

3.การจัดหาอุปกรณ์สำหรับห้องผู้ป่วยพิเศษ คนไข้ส่วนใหญ่อยากอยู่ห้องพิเศษแยกเป็นสัดส่วนมากกว่าอยู่ห้องรวม โรงพยาบาลรัฐบาลมักมีปัญหาเรื่องห้องพิเศษเต็ม มีห้องพิเศษไม่เพียงพอ บางครั้งได้อาคารใหม่มา สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่มีงบประมาณสำหรับการตกแต่ง ต้องอาศัยภาคประชาชนสนับสนุน ซึ่งมีทั้งบริจาคสมทบรายย่อย จนไปถึงบริจาคก้อนใหญ่

4.การบริจาคอาคารฯ ซึ่งมีทั้งบริจาคสมทบรายย่อย จนไปถึงบริจาคก้อนใหญ่สร้างอาคารใหม่ให้ทั้งหลัง ถ้าท่านไปตามโรงพยาบาลต่างๆ จะพบเห็นมีอาคารที่ตั้งชื่อตามชื่อผู้บริจาคอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งชื่อเศรษฐี คหบดี และที่พบบ่อยที่สุดคือ อาคารที่พระท่านหาทุนให้ เรียกว่าเป็นอาคารที่สงฆ์อุปถัมภ์ให้ว่างั้นเถอะ

5.ให้ทุนการศึกษากับคนในท้องที่ เช่น พยาบาล ทันตภิบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสาขาต่างๆ ซึ่งยังขาดแคลนอีกแยะ โดยเมื่อจบการศึกษาแล้ว ให้กลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต้นสังกัด ข้อนี้ถือว่าเป็นการสร้างคน และจะเป็นอานิสสงค์ที่สำคัญก่อเกื้อประโยชน์มาก เพราะโรงพยาบาลของประเทศไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดและพื้นที่ทุรกันดารยังขาดแคลนนักเรียนทุนอีกมาก รัฐบาลก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอในด้านนี้



6.การบริจาคอวัยวะ ทุกวันนี้แก้วตาก็ดี ไตก็ดี หัวใจก็ดี หรือแม้กระทั่งร่างกายทั้งตัวที่เอาไปใช้ชำแหละเพื่อการศึกษาทางกายภาค ล้วนยังเป็นที่ต้องการซึ่งท่านสามารถยื่นความจำนงค์ได้ที่ทุกโรงพยาบาลของรัฐบาล

7.การทอดกฐินและผ้าป่า สามารถระบุเจตจำนงค์มอบให้โรงพยาบาลได้ เมื่อเรากล่าวคำถวายกฐินและประเคนให้พระภิกษุแล้ว ท่านสามารถถวายต่อให้โรงพยาบาลได้

8.การร่วมเป็นกรรมการที่ปรึกษา หรือ กรรมการมูลนิธิของโรงพยาบาล ท่านสามารถมีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำ เสนอข้อคิดข้อควรปรับปรุง ปัญหาและข้อบกพร่องต่างๆที่ประชาชนอยากให้มีการปรับปรุงแก่โรงพยาบาลได้ ถือว่าท่านมีส่วนเป็นเจ้าของโรงพยาบาลด้วย จึงต้องร่วมด้วยช่วยกันในการปรับปรุงระบบบริการ

9.การเป็นผู้บริจาคเลือดสำรอง ประเทศไทยทุกวันนี้ ยังมีปัญหาเลือดบริจาคไม่พอเพียง ถึงแม้เหล่ากาชาดของจังหวัดและโรงพยาบาลต่างๆจะพยายามจัดหน่วยเชิงรุกเพื่อให้ได้มาซึ่งเลือดบริจาคให้พอเพียง แต่พบว่าก็ยังขาดแคลนไม่พออยู่ดี การเป็นผู้บริจาคเลือดสำรอง ที่เมื่อถึงคราจำเป็น โรงพยาบาลสามารถเรียกหาได้ทุกเมื่อ ถือเป็นความเสียสละและกุศลอันยิ่งใหญ่

10.การเป็นอาสาสมัครจิตอาสา ทุกวันนี้เรามีคนสมัครเป็นอาสาสมัครมาช่วยทำงานแบบจิตอาสา โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ หรือได้แต่ก็เพียงเล็กน้อย ในโรงพยาบาลจำนวนมาก มีทั้งผู้ป่วยอาสาช่วยผู้ป่วย (เพื่อนช่วยเพื่อน) อาสาสมัครมิตรภาพบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยติดเชื้อHIV ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ รูปแบบการเป็นอาสาสมัครมีทั้ง เป็นผู้ช่วยสังคมสงเคราะห์ เล่นดนตรีในโรงพยาบาล ช่วยดูแลผู้ป่วยที่มี่ญาติ ช่วยพับผ้าก๊อซ ให้กำลังใจผู้ป่วยในรูปลักษณะต่างๆ

อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เดิมก็เคยเข้าข่ายจิตอาสานี้ ต่อมาเมื่อมีการมอบค่าตอบแทนให้เดือนละ 600 บาท ทำให้จิตวิญญานของเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไป

11.การให้ธรรมะบริการแก่ผู้ป่วยและญาติ ผู้ป่วยบางคนเป็นโรคร้ายแรง รักษาไม่หาย บางคนมีอาการซึมเศร้า บางคนมีอาการเครียด บางคนคิดอยากฆ่าตัวตาย บางคนก็อยากไปตายที่บ้านไม่อยากอยู่โรงพยาบาล หมอและพยาบาลบางทีก็ไม่มีเวลาพอจะใส่ใจ อธิบายและให้กำลังใจ การให้ธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยในวาระสุดท้ายนั้น มีความจำเป็นและมีประโยชน์อย่างยิ่ง

โรงพยาบาลบางแห่งมีการนิมนต์พระภิษุกมาให้คนไข้และญาติตักบาตร บางแห่งภิกษุก็มีส่วนในการไปช่วยแนะนำ ให้ศีลให้พรแก่ผู้ป่วยระยะสุท้ายที่นอนแกร่วอยู่ในตึก นับว่าเป็นกุศลกิจที่สมควรสนับสนุนยิ่งนัก

12.ส่งคำชมเชยและให้กำลังใจ ในกรณีได้พบได้เห็นสิ่งดีๆหรือความประทับใจบางอย่างจากพฤติบริการของบุคลากรในโรงพยาบาล ท่านควรสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เขาได้รู้ตัว เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนั้น มักถูกร้องเรียน ต่อว่าต่อขานจากผู้รับบริการมากกว่าคำชมเชย การมอบคำชมและกำลังใจ จึงเป็นน้ำทิพย์อย่างดีสำหรับบำรุงขวัญและสร้างความเชื่อมั่นกับทางโรงพยาบาล ให้พัฒนาปรับปรุงบริการให้ดียิ่งๆขึ้นไป

ทั้งหมดที่กล่าวไปนั้น บางเรื่องมีผู้นิยมปฏิบัติกันมากพอสมควรแล้ว เช่น ในข้อแรกๆเกี่ยวกับการบริจาคทรัพย์สิน แต่ในข้อท้ายๆซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นที่ต้องการของโรงพยาบาลไม่ได้น้อยกว่ากันเลย ชาวบ้านยังไม่ค่อยรู้จักเท่าที่ควร จึงอยากใคร่เชิญชวน ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายที่ใคร่อยากทำบุญ ได้มาช่วยกันสละทรัพย์อย่างชาญฉลาด ช่วยชาติช่วยคนทุกข์ยากผ่านโรงพยาบาลกันด้วยเถิด

ข้อมูลจาก https://www.doctor.or.th/article/detail/333747