ตรวจหาโรคทั่วร่างกายได้แค่ “จับชีพจร”

หลายคนคงรู้จักการรักษาตามแบบฉบับแพทย์แผนจีนกัน ที่มีทั้งการฝังเข็ม การครอบแก้ว หรือการนวดกดจุด อยากจะมาแนะนำศาสตร์การตรวจโรคที่ทำงานควบคู่ไปกับการรักษาแบบแพทย์แผนจีนที่หลายคนยังไม่รู้จัก นั่นก็คือ การแมะ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า การจับชีพจร นำไปเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สามารถตรวจหาโรคต่างๆในร่างกายกันค่ะ

การแมะ หรือ การจับชีพจร เป็นวิธีวินิจฉัยผู้ป่วยของแพทย์จีนโบราณที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่ง แพทย์เริ่มเรียนรู้วิธีการรักษาผู้ป่วยด้วยการแมะ หรือจับชีพจรตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมานานนับพันๆ ปีแล้ว การที่แพทย์จะตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความชำนาญของแพทย์ท่านนั้นๆ

ชีพจรนั้นเกิดจากการที่หลอดเลือดขยายตัวและหดตัว เมื่อเลือดไหลผ่านเข้าไปในหลอดเลือดแดง กล้ามเนื้อรอบหลอดเลือดจะเกิดการยืดหยุ่น เมื่อเกิดการบีบตัวของหัวใจ เลือดจะถูกส่งเข้าไปในหลอดเลือด ชีพจรก็จะเต้น ในคนปกติทั่วไป อัตราการเต้นของชีพจรจะแตกต่างไปตามอายุ เพศ วัย เวลา ร่างกาย และจิตใจ เด็กชีพจรจะเต้นเร็วกว่าผู้ใหญ่ ชีพจรผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชาย ออกกำลังกายจะเต้นมากกว่าตอนพักผ่อน ช่วงบ่ายจะเต้นมากกว่าช่วงเช้า และผู้ใหญ่ ผู้ชายจะมีอัตราการเต้นของชีพจรประมาณ 60-80 ครั้ง/นาที และผู้ ใหญ่ที่เป็นผู้หญิงการเต้นของชีพจรจะอยู่ที่ประมาณ 70-90 ครั้ง/นาที

                                     
การจับชีพจรจะมีตำแหน่งการวางนิ้วแต่ละจุดดังนี้ 

มือซ้าย
- จุดชุ่น จุดนี้อยู่ที่ข้อมือซ้ายด้านใน ตรงหัวกระดูก โปนของข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ จะบ่งบอกถึงสุขภาพของหัวใจ ลำไส้เล็ก

- จุดกวน จุดนี้อยู่ที่แขนซ้ายด้านในใกล้กับข้อมือ ถัดจาก จุดชุ่น ขึ้นมา บอกเกี่ยวกับสุขภาพของ ตับ และถุงน้ำดี

- จุดฉื่อ จุดนี้อยู่ที่แขนซ้ายด้านในขึ้นมาทิศ ทางข้อศอก ถัดจาก จุดกวน ขึ้นมา บอกเกี่ยวกับสุขภาพของ ไต กระเพาะปัสสาวะ

มือขวา
- จุดชุ่น จุดนี้อยู่ที่ข้อมือขวาด้านใน ตรงหัวกระดูก โปนของข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ จุดนี้บอกเกี่ยวกับสุขภาพของปอด ช่วงอก หลอดลม และส่วนบน

- จุดกวน จุดนี้อยู่ที่แขนขวาด้านในใกล้กับข้อ มือถัดจาก จุดชุ่น ขึ้นมา บอกถึงสุขภาพของกระเพาะอาหาร ม้าม ลำไส้ใหญ่ และส่วนกลาง

- จุดฉื่อ จุดนี้อยู่ที่แขนขวาด้านในขึ้นมาทิศ ทางข้อศอก ถัดจาก จุดกวน ขึ้นมา จุดนี้บอกเกี่ยวกับสุขภาพของ กระเพาะปัสสาวะ ไต และส่วนล่าง

ตำราการจับชีพจรตามศาสตร์แพทย์แผนจีนได้แบ่งการวัดชีพจรออกเป็น 3 อย่าง

1. ชีพจรคนสุขภาพดี การเต้นของชีพจรจะไม่ใหญ่ ไม่เกิน ไม่เล็ก ไม่ผิว ไม่ลึก ไม่เร็ว ไม่ช้า ขณะที่หายใจเข้าออกเต้น 4 หรือ 5 จังหวะ สม่ำเสมอ แต่ชีพจรของคนปกติอาจเปลี่ยนไปตามอายุ เพศ เวลา ร่างกาย และสภาวะทางจิตใจ

2. ชีพจรของคนป่วย แพทย์จีนโบราณ ได้ค้นพบว่า การเต้นของ ชีพจรคนที่ป่วยมีลักษณะการเต้นที่แตกต่างกันมากมายหลายแบบ และ ซับซ้อน ซึ่งการเต้นในแต่ละแบบแต่ละชนิดได้บ่งบอกถึงอาการ และชนิด ของโรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในของคนนั้นแตกต่างกันด้วย เช่น ชีพจรแรง ชีพจรค่อย ชีพจรขาด ชีพจรฝืด เป็นต้น

3. ชีพจรแบบประหลาด คือ ผู้ที่มีชีพจรเต้นไม่เหมือนชีพจรปกติ เป็นลักษณะชีพจรของผู้ป่วยที่ใกล้จะสิ้นใจ ชีพจรจะเต้นอย่างไม่มีจังหวะ ชีพจรเต้นหลบอยู่ในเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ

ปัจจุบันนี้การจับชีพจรเข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์ของไทย และทั่วทั้งโลก ถึงแม้ว่าการจับชีพจรจะเป็นที่เชื่อถือ แต่ว่าหลักการนี้จะต้องใช้ควบคู่ไปกับการสอบถามอาการ ซักประวัติสุขภาพ ตรวจลิ้นและอวัยวะต่างๆ โดยอาศัยทักษะการดู,คลำ, ดม, เคาะ, ฟัง เพื่อวินิจฉัยให้ถูกต้องและครบถ้วนที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์เกรียงไกร  เถลิงพล (ลี)ภาพประกอบจาก istockphoto