รศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผิวหนังของคนเราเกือบทุกส่วนจะปกคลุมด้วยเส้นขน ยกเว้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า เส้นขน มีประโยชน์หลายอย่างแตกต่างกันตามตำแหน่ง เช่น ขนบริเวณลำตัวและแขนขา ช่วยควบคุมระดับอุณหภูมิในร่างกาย ขนบริเวณหนังศีรษะมีไว้ปกป้องแสงแดดและ เพื่อความสวยงาม ขนบริเวณรักแร้ ลดแรงเสียดสี เป็นต้น
แต่ในบางครั้ง เส้นขนที่ดกดำมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความสวยงามหรือบุคลิกภาพของคุณได้เช่นกัน เช่น เส้นขนบริเวณหน้าแข้งหรือริมฝีปากของคุณสุภาพสตรี ภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนหรือผลข้างเคียงของยาบางประเภทก็สามารถก่อให้เกิด ขนขึ้นมากผิดปกติ หรือเกิดขนงอกในบริเวณที่ไม่ควรงอก เช่น โรค Polycystic ovarian syndrome การรับประทานยาประเภทสตีรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันบางประเภท เป็นต้น การกำจัดขนจึงอาจเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบางท่าน
วิธีกำจัดขนมี 2 วิธี คือ
1. กำจัดขนแบบชั่วคราว ได้แก่ การโกน ถอน ใช้ด้ายกระตุกซึ่งวิธีการเหล่านี้ นอกจากต้องทำบ่อย ๆ เพราะความที่เป็นวิธีที่ไม่ถาวรแล้ว ยังมักก่อให้เกิดปัญหาของรูขุมขน อักเสบ และขนคุดตามมา
2. กำจัดขนแบบถาวร ในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ
- วิธี electrolysis คือ การใช้เข็มสอดลงไปที่รากขนทีละเส้นแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าทำลายรากขน วิธีนี้ ค่อนข้างเจ็บและเสียเวลานานมาก เพราะต้องสอดเข็มลงไปที่รากขนทีละเส้น และมีโอกาสเสี่ยงกับการเกิดแผลเป็น ค่อนข้างสูง เพราะว่าการสอดเข็มลงไปที่รากขนเป็นวิธีการสอดแบบสุ่ม โดยที่ ผู้ทำการรักษาไม่ทราบว่ารากขนอยู่ที่ใด
- วิธีใช้แสงความเข้มสูงและเลเซอร์ เป็น วิธีการกำจัดขนโดยอาศัยพลังงานความร้อนจากแสงไปทำลายรากขน แสงสามารถทำลาย รากขนโดยเฉพาะเจาะจง เพราะว่าบริเวณรากขนจะมีเซลล์สร้างสีที่เรียกว่าเมลาโนซัยท์ ซึ่งทำหน้าที่ เป็นตัวนำแสงหรือตัวดูดพลังงานแสงให้มาอยู่เฉพาะบริเวณรากขน
แสงความเข้มสูงและเลเซอร์กำจัดขนได้อย่างไร?
เครื่อง กำจัดขนสามารถส่งพลังงานแสงไปที่รากขน เซลล์สร้างสีบริเวณรากขนจะทำหน้าที่ดูดรับพลังงานแสง แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเพื่อทำลายรากขน
ความรู้สึกระหว่างกำจัด ขนด้วยแสงคล้ายกับหนังยางดีดบนผิวหนัง เป็นความรู้สึกซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ทนความรู้สึกได้ บริเวณผิวหนังอ่อน ๆ เช่น ริมฝีปาก ขาหนีบจะรู้สึกมากกว่าบริเวณอื่น การทายาชาชนิดครีมก่อนการ ทำเลเซอร์จะช่วยลดความรู้สึกระหว่างการรักษาได้ นอกจากนี้เลเซอร์หลายชนิดมีระบบให้ความเย็นแก่ผิวหนัง ซึ่งสามารถลดอาการเจ็บระหว่างการรักษาได้
การกำจัดขนด้วยเลเซอร์ใช้เวลานานเท่าใด ?
ระยะเวลาที่ใช้ขึ้นกับตำแหน่ง เช่น บริเวณรักแร้ใช้เวลาเพียง 2-3 นาที ส่วนบริเวณแผ่นหลังหรือหน้าแข้งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
การรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านใดบ้าง ?
ผล ของการรักษาขึ้นอยู่กับสีของขนและสีผิว โดยทั่วไปเส้นขนสีดำเข้มจะได้ผลดีกว่าเส้นขนสีอ่อน คนผิวขาวมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าคนผิวคล้ำ
การกำจัดขนด้วยแสงต้องทำกี่ครั้ง ?
การ กำจัดขนด้วยแสงจะทำลายเส้นขนประมาณ 15%-30% ภายหลังการรักษา 1 ครั้ง โดยทั่วไปต้องรักษาประมาณ 5-8 ครั้ง การรักษามักทำทุก 4-6 สัปดาห์
ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรภายหลังการทำ?
ผิว หนังบริเวณรอบรูขุมขนจะแดงและบวมเล็กน้อยภายในระยะเวลา 30 นาทีภายหลังการ รักษา ซึ่งอาการนี้จะหายไปเองภายในเวลา 1 วัน การประคบด้วยความเย็นจะช่วยลดอาการแสบร้อนได้ ผิวหนังภายหลังการรักษาจะไม่ เกิดแผล ไม่มีเลือดออก และไม่จำเป็นต้องปิดแผล
ควรดูแลรักษาอย่างไรภายหลังการกำจัดขน ?
ผู้ ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประวันได้ปกติ ควรยกเว้นการใช้สบู่หรือครีมที่ระคายเคืองที่ผิวหนัง เช่น Retin-A, AHA ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ปกติ ควรหลีกเลี่ยงการออกแดด และควรใช้ครีมทากันแดดในบริเวณที่ได้รับการรักษา
เส้นขนภายหลังการรักษาเป็นอย่างไร ?
เส้นขนจะค่อยๆ ถูกดันให้หลุดออกจากผิวหนังภายใน 2 สัปดาห์ หลังการรักษา
ควรเตรียมตัวอย่างไรก่อนทำเลเซอร์ ?
ภาย ใน 1 สัปดาห์ก่อนทำเลเซอร์ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งที่ไม่จำเป็น ไม่ควรถอนหรือแว็กซ์ขน หากจำเป็นอาจใช้วิธีโกน แต่ควรหยุดโกนขนภายในระยะเวลา 2-3 วัน ก่อนการทำการรักษา
สำหรับที่ศิริราช กำลังจะเปิด “ศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง” ที่ให้บริการรักษากำจัดขน โดยใช้แสงความเข้มสูง (Intense Pulsed Light; ไอพีแอล)..ที่มีประสิทธิภาพดีในการกำจัดขนและมีความปลอดภัยค่อนข้าง สูง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยตรวจโรคผิวหนัง โรงพยาบาลศิริราช ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 4 โทร. 0 2419 7380-7381
อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto