วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วย "หลอดเลือดสมองแตก"


อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเสียชีวิตมาก   ดังนั้นการขับขี่รถ จะต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ และไม่ประมาท  แต่ที่ผ่านมาอุบัติเหตุอาจไม่ได้เกิดจากความประมาท เพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากโรค หรือ อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันได้ด้วย

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  กล่าวถึง กรณีที่มีหญิงขับรถพุ่งชนศาลพระพรหมจนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าสาเหตุเป็นเพราะผู้ขับเกิดอาการหลอดเลือดในสมองแตก  ว่า  โรคหลอดเลือดสมอง  หรือSTROKE  คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย  ทำให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก   ซึ่งในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยฉุกเฉิน เข้ารับการรักษาด้วยโรคดังกล่าวผ่านสายด่วน 1669  ถึง 9,215  ราย

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้มีหลายปัจจัยทั้งที่ป้องกันได้และป้องกันไม่ได้ และจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น หากมีภาวะความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง  โรคหัวใจ   และหากผู้ป่วยเหล่านี้เกิดอาการขณะขับรถก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือหากรู้ว่ามีอาการป่วยควรเลิกขับรถเด็ดขาด หรือหากไม่ทราบว่ามีอาการ ก่อนขับขี่ทั้งตัวเอง และผู้ใกล้ชิดควรสังเกตอาการให้ดี  คือ หากมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้  ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ซึ่งส่วนมากทุกอาการจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างฉับพลัน  จะต้องรีบหยุดขับรถ หรือจอดรถทันที  และผู้พบเห็นต้องรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์  โทรสายด่วน 1669  เพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างทันที   โดยต้องระลึกเสมอว่าการรักษาผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรีบส่งเข้ารักษาภายในเวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยจะลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือพิการ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด  ซึ่งสาเหตุที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากภายใน 3 ชั่วโมงแรกเซลล์สมองยังไม่ถูกทำลายอย่างถาวร

ส่วนโรคอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถนั้นยังมีอีกหลายโรค อาทิ โรคทางระบบประสาท  โรคหัวใจ  โรคเกี่ยวกับความผิดปกติจากการมองเห็นหรือได้ยิน  และอีกโรคหนึ่งที่มักจะพบบ่อยคือ โรคลมชัก  ซึ่งหากทราบว่าเป็นควรหลีกเลี่ยงการขับรถ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นด้วย  ซึ่งต่อจากนี้จะมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยฉุก เฉินในการขับขี่ด้วย” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

นพ.อนุชา ยังกล่าวต่อถึงการปฐมพยาบาลผู้ป่วยลมชักว่า  การใช้ช้อนหรือวัสดุงัดปากผู้ป่วยลมชัก ถือเป็นวิธีการปฐมพยาบาลแบบผิดๆ  เพราะหากผู้ป่วยโรคลมชักเกิดอาการชักขึ้นมา ไม่มีวิธีใดที่จะสามารถหยุดอาการชักได้ แต่จะต้องช่วยกันปฐมพยาบาลไม่ให้เกิดการบาดเจ็บระหว่างชักเท่านั้น คือ ต้องจัดให้นอนในบริเวณที่ปลอดภัย  โดยให้นอนตะแคง เพื่อป้องกันทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้น และป้องกันการสําลักลงปอด  ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวมโดยเฉพาะบริเวณลําคอ  ไม่ควรรัดมากเกินไป   และอยู่กับผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะหยุดชัก ซึ่งโดยทั่วไปจะหายภายใน 5 นาที แต่ถ้านานเกิน สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง