แบบบ้านยกพื้นสูง ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของภาคเหนือและภาคใต้ได้อย่างลงตัว และมีการประยุกต์วัสดุของเก่านำกลับมาใช้ใหม่จนกลายเป็นบ้านไม้สวย ๆ หลังนี้
ลบภาพจำแบบบ้านยกพื้นสไตล์ล้านนาไปได้เลย เพราะวันนี้เราจะพาไปพบกับแบบบ้านไม้ยกพื้น จาก เฟซบุ๊ก Yangnar Studio ที่ผสมผสานสไตล์ล้านนากับปักษ์ใต้เข้ากันอย่างลงตัว พร้อมกับการนำทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์รวมทั้งนำเอาวัสดุเก่ากลับมาใช้ใหม่ในการออกแบบบ้าน จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรและน่าอยู่แค่ไหน ตามไปดูกันเลย
บ้านอิงสุข (Mon Ing Suk Eco-Stay)
โดย Yangnar Studio
ลักษณะเป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงชั้นเดียว ตั้งบนเนินดินยกสูง พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร นำเอารูปแบบบ้านมาจาก "ขนำ" หรือเพิงพักชั่วคราวของชาวสวนในภาคใต้ สามารถพักอาศัยและใช้พื้นที่บริเวณรอบตัวบ้านให้เกิดกิจกรรมอื่น ๆ ได้
พื้นที่ใช้งานประกอบไปด้วยชานทางเดิน ทอดตามแนวยาวของเรือน มีบันไดขึ้น-ลงสองฝั่ง และบันไดทางขึ้นหลักทำหน้าที่แบ่งห้องพักทั้งสอง เพื่อความเป็นส่วนตัวและระบายอากาศ ทำหน้าที่เป็นอุโมงค์ลมจากทิศใต้-เหนือ
บริเวณลานดิน ระดับความสูงของชานทำหน้าที่เป็นพื้นที่นั่งพัก อีกทั้งยังเชื่อมพื้นที่ส่วนครัว ห้องน้ำ เติ๋น เข้าด้วยกัน
เติ๋นที่ยกระดับขึ้นเพื่อทำกิจกรรมหน้าห้องพักหลัก แยกจากห้องพักรองที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อเนกประสงค์
มี “เตาไฟ” สำหรับล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยน รวมถึงการทำอาหาร เชื่อมความสัมพันธ์ของผู้อยู่อาศัยเข้าด้วยกัน บริเวณสวนหน้าบ้านสามารถมานั่งจิบกาแฟ นัดพบปะเพื่อน พร้อมกับชมวิวทิวทัศน์โดยรอบ
สัดส่วนของโครงสร้างไม้และรายละเอียดของวัสดุอื่น ๆ ถูกประกอบด้วยเทคนิคการก่อสร้างพื้นฐานทั้งหมด ทั้งงานไม้เก่าที่ตั้งใจ “ละ” การทาเคลือบปิดผิวไม้ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของวัสดุและคงผิวสัมผัสเดิมไว้
ไผ่ซางหม่น ถูกแปรรูปด้วยขวาน (มุย) และมีด เป็นไผ่สับฟาก มาเป็นส่วนประกอบของลูกฟักบานประตูและหน้าต่าง การนำบานประตูไม้เก่ากลับมาใช้ใหม่ (Reuse) วัสดุก่อสร้างหลักอื่น ๆ เช่น ผนังอิฐบล็อก รวมถึงกระเบื้องหลังคา ล้วนเป็นวัสดุที่หาได้ตามร้านวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งและซ่อมแซมในอนาคต
วัสดุประเภทเหล็กจากร้านขายของเก่า นำมาดัดแปลงให้เกิดการใช้สอยใหม่ (Recycle) ไม่ว่าจะเป็นเสารับโครงหลังคา ราวจับบันไดกันตก รางแขวนโคมไฟ รางระบายน้ำในห้องน้ำ รวมไปถึงของตกแต่งภายใน ที่มีการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์จากตลาดของเก่ามือสอง (กาดหนองฮ่อ) มาจัดวางเพื่อตกแต่งและใช้งานจริง
ทางลงสู่ลานดิน มีการนำเสาไม้เก่ามาขุดด้วยขวาน บากเป็นขั้นบันได เป็นลักษณะจากเรือนพื้นถิ่นลาว เวียดนาม ที่นำมาประยุกต์วางลงบนฐานหินที่ได้จากลำน้ำที่เลียบไปกับแนวที่ดิน
ห้องน้ำ
ห้องนอน
ห้องครัว
- Architects : Yangnar Studio
- Photographer credits : Rungkit Charoenwat
- Project location : Nam Phrae, Hang Dong District, Chiang Mai, Thailand
- Area : 50 sq.m.
- Documentary Photographer : Metee Moonmuang