ความรู้ จาก “ทูลกระหม่อมน้อย” สู่ “สมเด็จพระเทพฯ” พระจริยวัตรงดงามตลอด 64 พรรษา เป็นที่ทราบกันดีว่า วันที่ 2 เมษายน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และปัจจุบันทรงเป็นสมเด็จพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระเทพฯ ทรงได้รับการถวายพระประสูติกาลโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” ซึ่งแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพารเรียกทั่วไปว่า “ทูลกระหม่อมน้อย” สำหรับพระนาม “สิรินธร” นั้น นำมาจากสร้อยพระนามของ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา (ป้า) ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ส่วนสร้อยพระนาม “กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” ประกอบขึ้นจากพระนามาภิไธยของสมเด็จพระบุพการี 3 พระองค์ ได้แก่ “กิติ” มาจากพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระมารดา ส่วน “วัฒนา” มาจากพระนามาภิไธยเดิมของ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า นั่นคือ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระปัยยิกา (ย่าทวด) และ “อดุล” มาจากพระนามาภิไธยของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระอัยกา (ปู่) ครั้นในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระชนมายุ 22 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงได้รับความสำเร็จในการศึกษาอย่างงดงาม และทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองมากมาย รวมถึงทรงเพียบพร้อมด้วยพระจรรยามารยาทและคุณสมบัติแห่งขัตติยราชกุมารีทุกประการ อีกทั้งยังเป็นที่รักใคร่ นับถือ และสรรเสริญพระเกียรติคุณโดยถ้วนทั่ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้งเฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520 ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 50 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเทพฯ จึงนับเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์ที่ 14 ในราชวงศ์จักรี ที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระ และเป็นครั้งแรกที่สถาปนาพระอิสริยยศนี้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า อีกทั้งยังเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศ “สยามบรมราชกุมารี” จาก “ทูลกระหม่อมน้อย” ในวันนั้น สู่ “สมเด็จพระเทพฯ” ในวันนี้ นับเป็นเวลา 64 ปีเต็มแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรชาวไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพรอบด้านอันเป็นที่ประจักษ์ พระราชกรณียกิจนานัปการอย่างไม่เคยว่างเว้น ซึ่งทรงเจริญรอยตามพระบิดาโดยแท้ รวมถึงพระจริยวัตรอันงดงามที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาโดยตลอด กลายเป็นภาพแห่งความประทับใจที่ประชาชนชาวไทยได้เห็นเสมอมา เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2562 ซึ่งทรงเจริญพระชนมายุครบ 64 พรรษา ขอถวายพระพรให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง และทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน อีกทั้งขอถือโอกาสอันเป็นมงคลนี้ รวบรวมพระฉายาลักษณ์ที่แสดงถึงพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์มาให้ได้ชื่นชมกัน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ยังทรงได้รับการเรียกพระนามว่า “ทูลกระหม่อมน้อย” จนมาถึง “สมเด็จพระเทพฯ” เจ้าฟ้าผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยในทุกวันนี้ ข้อมูลและภาพจาก truststoreonline