โรคดึงผม ชอบถอนผมตัวเอง อาการแบบนี้เข้าข่ายโรคจิตเวชหรือไม่

โรคดึงผม ชอบถอนผมตัวเอง อาการแบบนี้เข้าข่ายโรคจิตเวชหรือไม่ ใครมีอาการแบบนี้ยกมือขึ้น !

คุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการแปลก ๆ ชอบดึงทึ้งผมของตัวเองหรือเปล่าคะ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ควรทำ แต่ก็ไม่อาจบังคับใจตัวเองได้ หากคุณมีอาการนี้ก็ไม่ต้องตื่นตกใจไปว่าคุณเป็นพวกโรคจิต วันนี้เราจะมาเผยเรื่องราวของโรคและการรักษาที่ถูกต้องให้ได้ฟังกันค่ะ

โรคดึงผม คืออะไร อาการเป็นอย่างไร

สำหรับโรคนี้เรียกว่า โรคถอนผมตัวเอง (Trichotillomania) หรือ โรคดึงผม เป็นภาวะผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง และเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมที่ย้ำคิดย้ำทำ อาจเกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ แต่มักพบผู้ป่วยมีอาการร่วมกันทั้ง 2 แบบ          - อาการดึงผมที่รู้ตัว : อาจเกิดได้จากความรู้สึกคันศีรษะยุบยิบ หรืออาจรู้สึกว่าเส้นผมไม่ตรง ไม่เรียบ เลยอยากดึงออกให้สบายใจขึ้น หรือบางคนก็มีอารมณ์กังวลและเครียดมาก่อน แต่พอได้ดึงผมแล้วก็จะรู้สึกผ่อนคลายหรือฟิน          - อาการดึงผมที่ไม่รู้ตัว : มักพบการถอนผมโดยที่ไม่รู้ตัวขณะกำลังทำกิจกรรมบางอย่างเพลิน ๆ เช่น นั่งอ่านหนังสือ หรือดูโทรทัศน์ บางคนเป็นมากถึงขนาดถอนจนผมร่วงเกือบหมดหัว หรือหายเป็นหย่อม ๆ จนมีลักษณะผมที่แหว่งไปเลยก็มี

โรคนี้พบได้ประมาณ 1-2% ในประชากรทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ และเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนบริเวณที่พบการดึงและถอนขนได้บ่อยก็คือ เส้นผม หรือขนตามตัว (ขนตา, ขนจมูก, ขนหน้าอก, ขนเพชร, คิ้ว)

โรคดึงผม เกิดจากสาเหตุอะไร

พฤติกรรมดึงผม ถอนผมตนเอง ปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่เบื้องต้นสันนิษฐานสาเหตุได้ดังนี้

1. จากพยาธิสภาพของโรคเอง คือ มีความผิดปกติในสมองส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงออกของพฤติกรรม หรือมีระดับของสารเคมีบางตัวในร่างกายผิดปกติ จึงมีโอกาสที่จะมีปัญหาในด้านการกระทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ ซึ่งบางรายอาจออกมาเป็นการทำร้ายตนเองอย่างรุนแรงซ้ำ ๆ เช่น โขกศีรษะ หรือถอนผมตนเอง เป็นต้น

2. จากพยาธิสภาพทางจิตใจ เกิดความเครียด เช่น ปัญหาการเรียน การทำงาน มีปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัว กลัวการทอดทิ้ง มีปัญหาทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น

3. จากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางด้านสังคม การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม อาจเกิดจากความคับข้องใจหากมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว หรือที่เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน เช่น มีการรับประทานอาหารที่ซ้ำซาก หรือการจำเส้นทางเดินทาง หรือการจัดสิ่งของให้อยู่อย่างเดิม ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เป็นไปตามสภาพแวดล้อมปกติที่เคยอยู่ จะทำให้มีความคับข้องใจ ซึ่งอาจแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมการทำร้ายตนเองได้

4. จากภาวะโรคจิตเวชบางอย่าง เช่น มีพฤติกรรมวิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือการเป็นโรคซึมเศร้า

5. พันธุกรรม เช่น อาจมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคดึงผมเหมือนกัน

วิธีรักษาโรคดึงผมตัวเอง

หากมีอาการมาก โรคนี้ก็จะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ดึงผมมาก ๆ จนผมแหว่งไปบางส่วน หรือหัวล้าน ทำให้ไม่มั่นใจ จะออกไปข้างนอกก็ต้องใส่วิก ใส่หมวกปกปิด นาน ๆ เข้าอาจเกิดความเครียดหรือเป็นโรคซึมเศร้าตามมา ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงควรเข้ารับการรักษา ซึ่งเป็นการรักษาร่วมกันระหว่างจิตแพทย์และแพทย์ผิวหนัง โดย

1. รักษาอาการผมร่วงกับแพทย์ผิวหนัง

2. ใช้แชมพูและสระผมตามสภาพผม

3. หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำร่วมกันในครอบครัว

4. ป้องกันการถอนผมตนเอง เช่น การนำวัสดุที่หาได้ในบ้าน เช่น หมวกคลุมผมเวลาอาบน้ำ ผ้าคลุมผม หมวก ฯลฯ มาคลุมที่ศีรษะ เพื่อป้องกันการดึงผมตนเอง ในระยะแรก ๆ อาจจะรำคาญและจะดึงออกตลอดเวลา แต่เมื่อเอามือจับศีรษะแล้วไม่พบเส้นผม ไม่สามารถถอนผมตนเองได้ ในระยะต่อมาก็อาจช่วยลดพฤติกรรมถอนผมลงไปในที่สุด

5. หากไม่สามารถหยุดถอนผมตัวเองได้ ให้ทำบันทึกตารางที่ถอนผม เมื่อทำได้ดีขึ้นจะได้มีกำลังใจ

6. ในกรณีที่เป็นเรื้อรังควรปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือ ควรรักษาร่วมกับพฤติกรรมบำบัดจะได้ผลดีที่สุด และคนใกล้ตัวก็มีส่วนช่วยรักษาได้ เช่น  ไม่ควรดุหรือตำหนิผู้ป่วยแรง ๆ เพราะจะยิ่งทำให้เครียดจนดึงผมมากยิ่งขึ้น จึงต้องค่อย ๆ ช่วยกันปรับพฤติกรรม รวมทั้งสังเกตพฤติกรรมด้วยว่า ผู้ป่วยมักจะดึงผมในช่วงเวลาไหน มีอารมณ์อย่างไร สถานการณ์เป็นอย่างไร เช่น ชอบดึงผมขณะนั่งดูทีวี ขณะอ่านหนังสือ อยู่ในอารมณ์เครียด ฯลฯ เพื่อให้ผู้ป่วยทราบจะได้ควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้ง่ายขึ้น

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 30 เมษายน 2561

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

- เฟซบุ๊ก สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

- toptenthailand.com

- เฟซบุ๊ก "RH Club" คลับของคนรักสุขภาพและความงาม

และ https://health.kapook.com/view51408.html