เย็นได้แบบสบายกระเป๋า! เผยความลับปุ่มบนรีโมทแอร์ ที่น้อยคนจะรู้ ทำให้แอร์เย็นแถมประหยัดไฟ

เผยความลับปุ่มบนรีโมทแอร์ ที่น้อยคนจะรู้


วัตถุประสงค์หลักๆของการใช้งานแอร์ในบ้านเรา ก็เพื่อลดอุณหภูมิภายในห้องให้ต่ำลง และให้อุณหภูมิในห้องอยู่ในระดับคงที่ ซึ่งการใช้งานแอร์ก็อาจจะได้ประโยชน์ทางอ้อมในการควบคุมความชื้นเข้ามาร่วมด้วย แต่โดยพื้นฐานแล้วเราก็ต่างต้องการใช้แอร์ในการทำความเย็นเป็นหลัก อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศของบ้านเราที่เป็นเมื่องร้อนนั่นเอง แต่แอร์ที่ผลิตและจำหน่ายในทุกวันนี้ รูปแบบการทำงานหลักๆนั้นไม่ได้มีเฉพาะแค่การทำความเย็นแต่อย่างเดียว





ซึ่งรูปแบบการทำงานของแอร์นั้น ในแอร์รุ่นปัจจุบัน เราสามารถปรับเลือกรูปแบบการทำงานได้ง่ายๆ เพียงกดเลือกรูปแบบการทำงาน จากปุ่มปรับเลือกโหมดการทำงานหลัก (MODE) ที่มีอยู่บนรีโมทคอนโทรล

         โดยเมื่อได้ทำการกดปุ่มเลือกโหมดการทำงานหลักแล้ว แอร์ก็จะจดจำการเลือกโหมดนั้นไว้ และสั่งการให้เครื่องมีการทำงานตามโหมดการทำงานที่กำหนด ต่อเนื่องกันไปตลอดที่ระยะเวลาที่แอร์ยังคงทำงาน จนกว่าจะมีการกดเปลี่ยนโหมดการทำงานอีกครั้งหนึ่ง


และผู้ใช้งานแอร์บางท่าน โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ใช้งานเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียดการทำงานมากนัก และอาจจะมีบางกรณีที่เคยเผลอกดเลือกโหมดการทำงานหลักผิดไปจากเดิม แล้วพบว่าแอร์ที่เปิดอยู่นั้นกลับไม่เย็นดังที่ต้องการ จนบางครั้งก็อาจจะคิดไปไกลถึงขั้นที่ว่าแอร์เสียแล้ว แต่อันที่จริงเป็นเพียงการปรับเลือกโหมดการทำงานหลักผิดไปจากเดิมเท่านั้น

          ซึ่งผู้เขียนเคยพอเคสดังกล่าวเมื่อนานมาแล้ว เป็นกรณีที่คุณป้าท่านหนึ่งอยู่บ้านกับหลานชายที่ยังเด็ก ซึ่งคุณป้าท่านนั้นได้ตามช่างแอร์ให้มาเช็คแอร์ที่บ้าน เพราะแอร์ที่เปิดไม่มีความเย็นออกมาเลย มีแต่ลมธรรมดาเป่าออกมา เมื่อช่างไปถึงก็ปรากฏว่าแอร์ถูกตั้งให้ทำงานในโหมด Fan ช่างจึงลองปรับกลับมายังโหมด Cool แอร์ก็กลับมาทำความเย็นได้ดีตามปกติ ส่วนสาเหตุก็คาดว่าหลานชายตัวเล็ก เป็นผู้กดรีโมทปรับเล่น และคุณป้าเจ้าของบ้านก็ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ที่ผ่านมาการใช้งานก็กดแค่ปุ่มเปิดปิดเครื่องกับปุ่มเลื่อนระดับอุณหภูมิขึ้นลงเท่านั้น เคสนั้นจึงจบลงแค่เพียงการกดปรับโหมดกลับคืนให้ และได้ให้ช่างสอนการใช้งาน พร้อมทั้งเขียนวิธีปรับโหมดแบบพอเข้าใจและอธิบายว่าแต่ละโหมดคืออะไรใส่กระดาษแป๊ะไว้ให้

         ในส่วนของโหมดการทำงานหลัก ที่มีในแอร์ทั่วไปผู้ผลิตแอร์ในปัจจุบัน ได้ใส่โหมดการทำงานพื้นฐานมาให้ โดยโหมดการทำงานที่ว่านี้มีอยู่ด้วยกันราวๆ 4 โหมดการทำงาน ได้แก่ โหมด Auto, Cool, Fan, Dry และในแอร์รุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์รุ่นที่มาพร้อมด้วยฟังชั่นเสริมมากมาย ก็อาจจะมีอีกหนึ่งโหมดการทำงานเพิ่มเข้ามานั่นก็คือโหมด Heat

         โดยในแต่ละโหมดการทำงานก็ถูกออกแบบให้มีการทำงานที่ต่างกันออกไป เพื่อให้ได้ผลที่ต่างกัน รายละเอียดของแต่ละโหมดก็มีดังต่อไปนี้


โหมด Auto


            สำหรับโหมดการทำงานแบบ Auto หรือการทำงานแบบอัตโนมัติ ในแอร์บางยี่ห้ออาจจะเรียกว่าโหมด I FEEL เมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานในโหมดAuto แอร์จะตั้งอุณหภูมิและความเร็วพัดลมโดยอัตโนมัติ ระบบจะเป็นฝ่ายกำหนดอุณหภูมิและความเร็วพัดลมให้เอง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิห้องที่เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิตรวจพบได้ในขณะนั้น

           โหมดการทำงานอาจจะสลับกันเองระหว่างโหมด Cool กับ Dry ยกตัวอย่างเช่น หากอุณหภูมิที่ตั้งอยู่ที่ 24 องศาเซลเซียส เมื่อระบบตรวจพบว่าอุณหภูมิห้องสูงเกินกว่า 25 องศาเซลเซียส ก็จะเลือกการทำงานในโหมด Cool เพื่อทำความเย็นให้กับในห้อง และระบบจะสลับไปทำงานในโหมด Dry โดยอัตโนมัติ เมื่ออุณหภูมิห้องลดลงมาต่ำกว่าค่าของอุณหภูมิที่ตั้งไว้

           ซึ่งโหมดการทำงานแบบ Auto มีกลไกลการทำงานแบบอัตโนมัติที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็ไม่ค่อยจะมีประโยชน์อะไรมากในการใช้งานแอร์แบบที่เราใช้กันทั่วๆไป


โหมด Cool


โหมดการทำงานแบบ Cool หรือโหมดทำความเย็น เป็นโหมดการทำงานที่เรานิยมใช้กันมากที่สุด โดยเมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานให้อยู่ในโหมด Cool แอร์จะเข้าสู่รูปแบบการทำงานสำหรับทำความเย็น และคงระดับอุณหภูมิให้อยู่ในขอบเขตที่เรากำหนด โดยผู้ใช้งานมีอิสระในการปรับตั้งอุณหภูมิได้ตามที่ต้องการ รวมทั้งยังสามารถปรับระดับความเร็วพัดลมได้อีกด้วย

ในกรณีของแอร์แบบที่จำหน่ายกันอยู่ในกลุ่มประเทศเขตหนาวที่มีฤดูหนาวยาวนานกว่าฤดูร้อน โหมด Cool จะเป็นโหมดสำหรับใช้งานเฉพาะในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น แต่ในบ้านเราที่อากาศค่อนข้างจะร้อนตลอดทั้งปี โหมด Cool จึงถือเป็นโหมดการทำงานหลักที่เราใช้งานกันมากที่สุด


โหมด Dry


โหมดการทำงานแบบ Dry หรือโหมดลดความชื้น ซึ่งแทนด้วยสัญลักษณ์รูปหยดน้ำ โดยเมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานให้อยู่ในโหมด Dry ผู้ใช้งานจะไม่สามารถปรับตั้งอุณหภูมิได้ เมื่ออยู่ในโหมดลดความชื้น และแอร์ก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องลดความชื้นในอากาศ โดยใช้การควบแน่นของความชื้นในอากาศที่เกิดขึ้นบนแผงอีวาปอเรเตอร์หรือแผงทำความเย็น เพราะโดยหลักการพื้นฐานที่แอร์ใช้ทำความเย็น ใช้สารทำความเย็นในระบบที่ถูกทำให้ไหลไปตามท่อเพื่อให้มันเป็นตัวกลางในการถ่ายเทความร้อน ซึ่งนี่จึงทำให้แผงที่บริเวณที่อยู่ในชุดคอยล์เย็นจะมีอุณหภูมิต่ำมาก จนความชื้นในอากาศพากันมาควบแน่นและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ไหลออกไปตามท่อน้ำทิ้ง

และเมื่อแอร์ถูกกำหนดให้ทำงานในโหมดลดความชื้น แม้ว่าคอมเพรสเซอร์ที่อยู่ในชุดที่ติดตั้งอยู่นอกอาคารยังคงทำงานอยู่ แต่พัดลมที่อยู่ในชุดคอยล์เย็นอาจจะมีการทำงานสลับกับการหยุดทำงานเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นการดึงความชื้นในอากาศให้ถูกกลั่นตัวเป็นหยดน้ำให้ได้มากที่สุด และนำเอานำที่กลั่นตัวจากความชื้นปล่อยทิ้งออกมาทางท่อน้ำทิ้ง

โหมดลดความชื้นนี้หากไม่ได้ใช้งานในห้อง ที่ต้องการควบคุมความชื้นโดยเฉพาะก็ถือว่าไม่จำเป็นสักเท่าไหร่กับการใช้ในบ้านทั่วๆไป


โหมด Fan


ในโหมด Fan หรือโหมดพัดลม เมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานให้อยู่ในโหมด Fan ระบบจะตัดการทำงานในส่วนของชุดคอนเด็นซิ่งยูนิตที่อยู่นอกอาคารออกไป เหลือไว้แต่เพียงชุดแฟนคอยล์หรือคอยล์เย็นในอาคารที่จะยังคงทำงานอยู่ พัดลมคอยล์เย็นจะยังคงทำงานอยู่ ผู้ใช้งานก็สามารถปรับความเร็วพัดลมได้ แต่ไม่สามารถตังอุณหภูมิได้ และลมที่ออกมาจากชุดคอยล์เย็นก็อยู่ในระดับของอุณหภูมิห้อง ไม่ใช่ลมเย็น เพราะการทำความเย็นในชุดคอนเด็นซิ่งยูนิตถูกตัดการทำงานออกไปทันทีที่กดเลือกโหมด Fan จึงทำให้คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน และไม่มีน้ำยาแอร์ไหลวนเข้ามายังชุดคอยล์เย็น

โหมด Fan แม้จะเป็นอีกหนึ่งโหมดการทำงาน ที่โดยปกติเราไม่ค่อยจะใช้งานกันอยู่แล้ว แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโหมดการทำงานที่ค่อนข้างมีประโยชน์ ซึ่งหากท่านใดเจอปัญหากลิ่นเหม็นอับที่ออกมาจากแอร์ ก็ลองใช้งานโหมดนี้ดูได้ โดยการใช้งานนั้นเมื่อเราใช้แอร์เสร็จ หรือเป็นช่วงที่ใกล้จะปิดแอร์ ก่อนจะปิดแอร์หากเราเปลี่ยนให้แอร์ทำงานในโหมด Fan ต่อไปอีกสัก 15-20 นาที แล้วจึงปิดเครื่อง ก็จะช่วยเป่าแผงคอยเย็นด้านใน ลดความชื้นสะสม ซึ่งสามารถช่วยลดกลิ่นอับที่ไม่พึงประสงค์ได้

โหมด Heat


โหมดการทำงานแบบ Heat หรือโหมดทำความร้อน ซึ่งในรีโมทแอร์บางยี่ห้อจะแทนโหมดนี้ด้วยสัญลักษณ์รูปดวงอาทิตย์ เป็นโหมดการทำงานที่เพิ่งมีการนำเข้ามาใส่ในแอร์บางรุ่นที่ขายในบ้านเรา โดยเมื่อกดปุ่ม Mode บนรีโมทคอนโทรล แล้วเลือกการทำงานให้อยู่ในโหมด Heat เมื่อเข้าสู่โหมดนี้ การทำงานของเครื่องจะเป็นการเพิ่มอุณหภูมิเพื่อทำความร้อนให้กับภายในห้อง โดยส่วนใหญ่การทำงานในโหมดนี้ จะใช้เทคโนโลยีการทำความร้อนที่เรียกว่า Heat Pump ซึ่งหากจะเปรียบให้พอเข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือเป็นการทำงานแบบกลับทิศทาง สลับหน้าที่กันระหว่างแผงคอยล์ร้อนและแผงคอยล์เย็น เพื่อให้ชุดภายในอาคารเป่าลมร้านออกมา โดยเทคโนโลยีนี้ มีมานานสักระยะหนึ่งแล้ว และมันเป็นที่รู้จักและใช้งานกันแพร่หลายในกลุ่มประเทศที่มีอากาศหนาว ซึ่งนำมาใช้งานเพื่อให้ความอบอุ่นในครัวเรือน และยังสามารถสลับมาทำความเย็นได้ในช่วงที่มีอากาศร้อน

โหมด Heat ที่มีมาให้ ในแอร์ที่จำหน่ายในบ้านเรานั้น ปัจจุบันยังคงจำกัดเฉพาะในแอร์รุ่นท็อประดับบนๆของแต่ละยี่ห้อเท่านั้น ซึ่งมันก็เป็นอีกโหมด ที่ถือว่าไม่จำเป็นในการนำมาใช้งานทั่วๆไป เพราะแม้แต่พื้นที่ ที่มีอากาศหนาวสุดในประเทศไทยก็มีช่วงที่หนาวจัดติดต่อกันไม่นานสักเท่าไหร่ ดูแล้วอาจจะไม่ค่อยคุ้มค่าที่จะต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อแอร์รุ่นท็อป

4 วิธีใช้แอร์ ค่าไฟไม่พุ่ง แบบเย็นใจ สบายกระเป๋า มีเงินเหลือใช้!


1. ต้องประหยัดไฟเบอร์ 5

จากสถิติการใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ ปีจะพบว่าช่วงเดือนเมษายนจะเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทยใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดเสมอ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เมืองไทย อากาศร้อนสุด ๆ สถิตินี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเมืองไทยใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อสร้างความเย็นให้ที่อยู่อาศัยมากเป็นอันดับต้น ๆ การเลือกแอร์ที่ประหยัดไฟ จึงเป็นปัจจัยแรกที่ควรนึกถึงทุกครั้งที่เลือกซื้อ เป็นที่ทราบกันดีค่ะว่า ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นระดับความประหยัดไฟฟ้าสูงที่สุดออกโดยกระทรวงพลังงาน และจะมีตรากระทรวงประทับอยู่บนฉลากเสมอ แอร์ประหยัดไฟเบอร์ 5 จึงเป็นแอร์ที่ควรได้รับการพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเลือกซื้อแอร์ติดตั้งภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแอร์แบบฝังในเพดาน แอร์ติดผนัง หรือแอร์เคลื่อนที่


2. ติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสม

เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ สำหรับตำแหน่งการติดตั้งแอร์ เพราะหากอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้วจะสามารถลดค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนได้ ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้งแอร์ FCU (ตัวเครื่องที่ติดตั้งภายในห้อง) ในบ้านมีดังนี้

บริเวณที่ติดตั้งสามารถกระจายลมได้ทั่วถึงทั้งห้อง ไม่มีสิ่งกีดขวาง และไม่ควรติดตั้งในมุมอับ หลีกเลี่ยงการติดตั้ง FCU ในบริเวณที่ใกล้กับประตู หน้าต่าง หรือพัดลมดูดอากาศเพราะจะทำให้อากาศเย็นภายใน ถูกความร้อนภายนอกไหลเข้ามาแทนที่ได้ง่าย

อย่าติดชิดผนังที่รับแดดจัด หรือทิศตะวันตก เพราะจะทำให้แอร์ทำงานหนัก ยิ่งเป็นห้องนอนที่ต้องอยู่อาศัยในช่วงเย็นด้วยแล้ว ยิ่งควรหลีกเลี่ยงตำแหน่งดังกล่าว

3. เลือกขนาดที่พอดีกับพื้นที่ภายในห้อง
อาจจะได้ยินกันมาบ้างสำหรับค่า BTU (British Thermal Unit) คือหน่วยวัดปริมาณความร้อน โดยในเครื่องปรับอากาศจะใช้หน่วยวัดพลังเป็น BTU/hr. (บีทียูต่อชั่วโมง) หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า BTU เทานั้น อาทิ เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU/hr. หมายความว่าเครื่องปรับอากาศเครื่องนี้สามารถดูดความร้อน BTU ภายในหนึ่งชั่วโมง เครื่องปรับอากาศแต่ละรุ่นจะมีค่า BTU ต่างกันเริ่มตั้งแต่ 9,000-80,000 BTU ซึ่งถือเป็นค่าสูงสุด การเลือกขนาด BTU ตามความเหมาะสม ควรเลือกตามขนาดของห้อง สามารถคำนวณโดยใช้สูตร

    พื้นที่ห้อง x ค่า Cooling Load Estimation = ค่า BTU ที่เหมาะสม
    ค่าประเมิน Cooling Load Estimation ที่เหมาะสมกับแต่ละห้อง
    ห้องนอน 700-750 BTU/ตารางเมตร
    ห้องนั่งเล่น 750-850 BTU/ตารางเมตร
    ห้องทานอาหาร 800-950 BTU/ตารางเมตร
    ห้องครัว 900-1000 BTUตารางเมตร
    ห้องทำงาน 800-900 BTU/ตารางเมตร
    ห้องประชุม 850-1000 BTU/ตารางเมตร

สูตรข้างต้นใช้คำนวณในกรณีที่ความสูงของเพดานที่สูงไม่เกิน 3 เมตรเท่านั้น หากห้องมีความสูงมากกว่าและมีปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ จำนวนผู้อยู่อาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือพื้นที่กระจกภายในห้อง จะต้องบวกค่า BTU เพิ่มด้วย หากเลือกขนาดของ BTU มากติดตั้งในห้องขนาดเล็กก็จะเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ
4. ตั้งอุณหภูมิให้พอเหมาะ

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะเข้าใจว่าอุณหภูมิภายในห้อง ที่เหมาะต่อการอยู่อาศัยอยู่แล้วรู้สึกสบายนั้น จะอยู่ที่ 25-26 องศา หากเกินนี้จะรู้สึกร้อนเกินไป แต่หากเลือกเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 28-30 องศา แล้วเลือกเปิดพัดลมเพื่อเพิ่มความเร็วลมในห้อง เราจะยังรู้สึกเย็นสบายอยู่เช่นเดิมและช่วยประหยัดพลังงานได้มากเพราะเครื่องปรับอากาศจะทำงานเบาลง หากเป็นช่วงเวลานอนควรตั้งอุณหภูมิไว้ ไม่ต่ำกว่า 28 องศา เนื่องด้วยในช่วงเวลาที่เราหลับร่างกายจะไม่สามารถปรับอุณหภูมิตามสภาพอากาศได้จึงควรตั้งอุณหภูมิที่สูงไว้ เป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้อีกทาง

ขอบคุณที่มา : bloggang.com และ kaijeaw