ทำสังฆทานให้เป็น จะได้บุญมาก ลดกรรม อโหสิกรรมครบทุกด้าน

ทำสังฆทานให้เป็น จะได้บุญมาก ลดกรรม อโหสิกรรมครบทุกด้าน

 

สังฆทานได้บุญมากแค่ไหน


                ประโยชน์อย่างแรกของสังฆทานก็คือทำให้เราได้บุญมาก โดยมีตัวอย่างในพระไตรปิฎกเล่มที่ 26 ข้อ ๓๔ ที่เป็นเรื่องของผู้หญิง 2 คนที่เป็นพี่น้องกัน พี่สาว(ภัททา)เป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศล ทำบุญตักบาตรเป็นประจำสม่ำเสมอ ส่วนน้องสาว(สุภัททา)เป็นคนที่ไม่ค่อยได้ทำบุญเท่าไหร่

                แต่อยู่มาวันหนึ่งน้องสาวเกิดอยากทำบุญขึ้นมา แล้วบังเอิญได้พบกับพระเรวตเถระซึ่งท่านก็แนะนำให้ทำสังฆทาน น้องสาวจึงได้นิมนต์พระมาจำนวน 8 รูป เพื่อถวายสังฆทาน

                เมื่อทั้งคู่ตายไป พี่สาวที่ทำบุญตักบาตรอย่างสม่ำเสมอ ก็ได้ไปอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์(ชั้น2) ส่วนน้องสาวที่มีโอกาสได้ทำสังฆทานกลับได้ไปอยู่บนสวรรค์ชั้น 5  และมีวิมานที่ใหญ่โตกว่าของพี่สาวมากมายนัก



                และหากเราใช้หลักการที่อธิบายไปในบทที่ 12 ว่า การทำบุญสังฆทานได้บุญเทียบเท่าหรือมากกว่าทำบุญกับพระพุทธเจ้า

                เราจะได้คำตอบว่า เราจะต้องตักบาตรกับพระอย่างน้อย 100,000 ล้านรูป เราถึงจะได้บุญเท่ากับการทำสังฆทานเพียง 1 ครั้ง หรือเทียบง่ายๆว่า หากเราตักบาตรวันละ 10 รูป ก็ต้องตักบาตรทุกวันนานถึง 27,500,000 ปี(เกิด 370,000 ชาติ) ถึงจะได้บุญเท่าทำสังฆทานเพียง 1 ครั้ง

             

สังฆทานทำให้ทำบุญอย่างสบายใจ


                ประโยชน์อย่างที่สองก็คือทำให้เราสามารถทำบุญที่ได้บุญมากได้ง่ายขึ้นและสบายใจขึ้น เพราะตามหลักการที่ได้อธิบายไปในบทที่ 12 ที่อธิบายว่า เราจะได้บุญมากขึ้นหากเราทำบุญกับคนที่มีศีลสูงขึ้น ทำให้ผู้ที่มีโอกาสได้ทำบุญพระอรหันต์หรือพระพุทธเจ้าจะได้บุญมากมายมหาศาล

                ด้วยความเข้าใจนี้จึงทำให้คนจำนวนหนึ่ง พยายามแสวงหาพระที่เป็นพระอรหันต์แล้วพยายามทำบุญกับท่าน เพื่อให้ได้บุญมากมายมหาศาล เหมือนดังเช่นในสมัยพุทธกาล(พระไตรปิฎกเล่มที่ 22ข้อ 330) พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามพ่อค้าฟืนคนหนึ่งว่า ได้ทำบุญบ้างหรือเปล่า พ่อค้าฟืนคนนั้นตอบว่า ไม่ต้องห่วงเพราะว่าเขาได้ทำบุญกับพระอรหันต์อยู่เป็นประจำ

                พระพุทธเจ้าได้ถามพ่อค้าฟืนคนนั้นต่อว่า ทราบได้อย่างไรว่าเป็นพระอรหันต์ พ่อค้าฟืนตอบว่า ก็เพราะว่าพระรูปนั้น ปลีกวิเวก อยู่ป่า และมีกิริยาที่เหมือนกับพระอรหันต์

             

                พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า เป็นเรื่องยากสำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ ที่จะรู้ว่าพระรูปไหนเป็นพระอรหันต์ เพราะพระบางรูปที่ ปลีกวิเวก อยู่ป่า แต่ภายในอาจจะยังคงมีกิเลสตัณหาอยู่มากมาย จิตฟุ้งซ่าน จิตไม่ตั่งมั่น ถือตัว จึงยังห่างไกลจากคำว่าพระอรหันต์

ในขณะที่พระบางรูป ที่ไม่ได้อยู่ป่า คลุกคลีกับผู้อื่น(พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อยู่แต่ในป่า และพระองค์ก็คลุกคลีกับฝูงชนมากมาย) แต่ภายในใจอาจจะสิ้นแล้วซึ่งกิเลสตัณหาจนบรรลุอรหันต์ไปแล้วก็เป็นไปได้

                ในเมื่อเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าพระรูปไหนเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าจึงได้แนะนำว่า ให้ถวายสังฆทาน ซึ่งเราก็จะได้บุญมากเช่นกัน



                ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้ จึงทำให้เราไม่จำเป็นจะต้องเที่ยวเสาะแสวงหาพระอรหันต์ เพื่อที่จะทำบุญให้ได้บุญมาก เพียงแค่เราหาวัดใกล้บ้านแล้วถวายสังฆทาน แม้ว่าพระจะเป็นพระทุศีล(ทำผิดศีล) เราก็จะได้บุญมากเท่ากับหรือมากกว่าถวายกับพระพุทธเจ้า(พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 ข้อ 713) ความเข้าใจนี้จะทำให้เรามีความสุขใจและสบายใจในการทำบุญ เพราะทำที่ไหนก็ได้บุญมากเช่นกัน



การทำสังฆทานที่ถูกต้อง


                ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนเรียกถังเหลืองว่าสังฆทาน จึงทำให้ผมเคยเข้าใจผิดว่าการถวายถังเหลืองก็หมายถึงเราได้ทำสังฆทานแล้ว แต่ความจริงแล้วจะเป็นสังฆทานหรือไม่เป็น ไม่ได้เกี่ยวกับถังเหลืองเลยแม้แต่น้อย(ไม่เกี่ยวกับสีของถัง และไม่จำเป็นต้องใส่ถัง)



                การถวายสังฆทานนั้นหมายถึง การถวายแด่หมู่สงฆ์(สังฆ-สงฆ์ ,ทาน-ให้หรือถวาย) เป็นการถวายโดยไม่เฉพาะเจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการถวายสังฆทานมักจะเป็นการถวายอาหาร และอาจจะมีการถวายปัจจัย 4 อย่างอื่นให้ครบถ้วน(เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย) หรือข้างของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระ เช่น แปรงสีฟัน ยามีฟัน มีดโกน ฯลฯ โดยการถวายสังฆทานเราจะทำที่วัดหรือทำที่บ้านของเราก็ได้(ในสมัยพุทธกาลจะทำที่บ้าน)



                คำว่าหมู่สงฆ์สำหรับสังฆทานนั้นหมายถึงตัวแทนของพระ(พระไตรปิฎกเล่มที่ 14 ข้อ 712) ซึ่งในพระไตรปิฎกได้ระบุเอาไว้ว่ามี 7 อย่าง ซึ่งในปัจจุบันที่พระพุทธเจ้าปรินิพานแล้ว และไม่มีภิกษุณีแล้ว ก็จะเหลือลักษณะของสังฆทานเพียง 2 อย่างเท่านั้น คือ 1.ให้ทานในภิกษุสงฆ์(พระทั้งหมดหรือพระทั้งวัด)  และ 2.เผดียงสงฆ์(นิมนต์-อาราธนา)ว่า ขอได้โปรดจัดพระจำนวนเท่านี้เพื่อทำสังฆทาน

ในกรณีที่เราไม่ได้นิมนต์ด้วยตนเอง(ไม่ว่าจะนิมนต์มาทำที่บ้านเรา หรือนิมนต์แล้วทำที่วัด) แล้วเราไปที่วัดโดยไม่ได้นิมนต์ล่วงหน้า แต่เราไปที่ศาลาที่พระทั้งวัดมานั่งฉันอาหารพร้อมๆกัน การที่มีพระทั้งวัดแบบนี้ก็จะถือได้ว่าเป็นหมู่สงฆ์โดยอัตโนมัติ(ตามกรณีที่ 1)

ส่วนกรณีที่ 2 จะหมายถึงการนิมนต์พระที่เป็นตัวแทนของพระวัดนั้น โดยมาจากการประชุมของพระทั้งวัด หรือมาจากการจัดสรรของพระที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรร เช่น เราไปที่วัดแล้วติดต่อผู้ที่รับผิดชอบของวัด ว่าจะขอนิมนต์พระจำนวนกี่รูป แล้วผู้รับผิดชอบก็นิมนต์พระมาให้ตามจำนวนที่เราขอ แบบนี้จะถือว่าเป็นหมู่สงฆ์ที่ถูกต้อง ที่เป็นตัวแทนของวัด(จะถวายสังฆทานที่วัดหรือที่บ้านก็ใช้หลักการเดียวกัน)



แต่หากเราเดินเข้าไปที่วัด แล้วเจอพระรูปหนึ่งแล้วแจ้งกับท่านว่าจะนิมนต์พระไปทำสังฆทาน แล้วพระรูปนั้นไปชักชวนพระที่ตนรู้จักจนครบจำนวน แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นหมู่สงฆ์ที่เป็นตัวแทนของวัด



หมายเหตุ: ในกรณีที่นิมนต์พระมาที่บ้าน จะต้องจัดสถานที่และอุปกรณ์ให้พร้อม เช่นน้ำล้างเท้า ผ้าเช็ดเท้า น้ำฉัน น้ำใช้ กระโถน ผ้า-กระดาษเช็ดมือ เช็ดปาก ช้อนส้อมและช้อนกลาง (โภชนะปฏิสังยุตะ ข้อ ๓๐)  และต้องจัดที่ให้พระนั่ง อย่าให้ยืน และที่นั่งต้องสูงกว่าที่ของผู้นั่งฟัง(ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ข้อ ๑๓, ๑๔) และตอนนิมนต์ไม่ควรบอกว่ามีอาหารอะไรบ้าง แค่กล่าวนิมนต์เฉยๆ(โภชนวรรค ข้อ ๒)



การถวายแด่หมู่สงฆ์


                ในการถวายสังฆทานนั้น แม้ว่าเราจะนิมนต์พระอย่างถูกต้อง หรือเราจะไปที่ศาลาที่พระทั้งวัดมานั่งฉันพร้อมๆกัน ก็ยังไม่ถือว่าเราได้ทำสังฆทานอย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ หากเรานำอาหารนั้นไปถวายพระรูปใดรูปหนึ่ง หรือแม้แต่ถวายให้พระทีละรูปจนครบทุกรูป เพราะจะถือว่าของที่เราถวายนั้นจะเป็นของพระรูปนั้น จึงเป็นการถวายทานปกติเป็นทานที่ให้บุคคล(ปาฏิปุคคลิกทาน)ไม่ได้เป็นสังฆทาน(ได้บุญแต่ไม่ได้บุญมากเท่าสังฆทาน)

                การที่เราจะถวายสังฆทานได้อย่างถูกต้อง จะต้องเป็นการถวายให้เป็นส่วนกลางก่อน โดยอาจจะเป็นพระที่มีพรรษาสูงสุดเป็นผู้รับทั้งหมด แล้วพระท่านจะแจกจ่าย(ส่งต่อ)กันไปตามพรรษาจากพรรษาสูงสุดไปหาพรรษาน้อย

หรืออาจจะมีตัวแทนพระมารับของที่เป็นส่วนกลาง แล้วแจกจ่ายโดยเริ่มจากพระที่มีพรรษาสูงสุด แล้วพระท่านจะแจกจ่ายกันไปตามพรรษาเช่นกัน


                สรุปว่าหลักการที่ถูกต้องก็คือ การถวายสังฆทาน ต้องถวายให้เป็นของส่วนกลางก่อน แล้วให้พระท่านแจกจ่าย(ส่งต่อ)กันเอง

ส่วนตัวเราในฐานะผู้ถวายก็ต้องถวายโดยไม่มีจิตยึดติดกับพระรูปใดเป็นพิเศษด้วย(คิดจะถวายแบบรวมๆ ให้พระทั้งหมด ให้พระพุทธศาสนา)


พระรูปเดียวรับเป็นสังฆทานหรือไม่


                ในกรณีที่เราไปที่กุฏิของท่านแล้วถวาย แบบนี้ไม่เป็นสังฆทานแน่นอน เพราะของนั้นจะตกเป็นของท่านแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้ตกเป็นของส่วนกลางก่อน(ได้บุญแต่ไม่เป็นสังฆทาน)

                แต่ในกรณีที่มีพระรูปเดียว แต่มาเป็นตัวแทนของสงฆ์หรือตัวแทนวัด เช่นทางวัดมีการจัดสรรว่า วันไหนพระรูปไหนจะเป็นตัวแทนสงฆ์ออกมารับสังฆทาน และของที่ได้รับไม่ได้เป็นของพระรูปนั้น แต่เป็นของกลางของวัดก่อนแล้วค่อยไปจัดสรรภายหลัง แบบนี้แม้จะเป็นพระรูปเดียวก็ถือได้ว่าเป็นสังฆทาน(อรรถกถาเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ หน้า 407 เวรัญชกัณฑวรรณนา)

                หรือแม้แต่ในกรณีที่เรานิมนต์พระมาทำสังฆทานที่บ้านเพียงรูปเดียว โดยเป็นการติดต่อทางวัด และทางวัดเป็นผู้จัดสรรมาให้ ก็ยังถือว่าเป็นสังฆทาน แต่โดยทั่วไปเรามักจะนิมนต์พระมามากกว่า 1 รูปด้วยเหตุผลของความรู้สึก และความจำเป็นในเรื่องการอปโลกสังฆทาน(อธิบายเพิ่มเติมภายหลัง)

                อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เราได้บุญอย่างเต็มที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย วิธีที่ดีที่สุดของการทำสังฆทานก็คือ การไปวัดตอน 8-10 โมงเช้า(แต่ละวัดจะช้าเร็วไม่เหมือนกัน) แล้วไปที่ศาลาที่พระทั้งวัดมานั่งฉันอาหารพร้อมกัน เพื่อถวายอาหารเป็นสังฆทาน หรือนิมนต์พระมาที่บ้านเพื่อถวายอาหารเป็นสังฆทาน ส่วนข้าวของเครื่องใช้อื่นๆเราก็สามารถถวายเพิ่มเติมได้ แต่ควรตั้งใจถวายอาหารเป็นหลัก(อ่านเพิ่มเติมท้ายบทว่าทำไมต้องถวายอาหารเป็นหลัก) หากทำตามสองแบบนี้เราก็จะได้บุญสังฆทานแน่นอน และได้ความอิ่มอกอิ่มใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้บุญเพิ่มขึ้นด้วย

ตักบาตรเป็นสังฆทานหรือไม่


                หากพระท่านมาในฐานะตัวแทนหมู่สง และอาหารที่เราใส่บาตรพระท่านนำไปรวมที่ส่วนกลางก่อน แล้วค่อยแจกจ่ายให้แต่ละรูปฉัน แบบนี้มีโอกาสเป็นสังฆทานได้ แต่ถ้าพระท่านไม่ได้มาในฐานะตัวแทนหมู่สงฆ์หรือฉันของที่ท่านบิณฑบาตมาเอง ไม่ว่าอย่างใดอย่างหนึ่งแบบนี้ไม่เป็นสังฆทานแน่นอน

                ในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากที่เราจะทราบว่า พระท่านเป็นตัวแทนหมู่สงฆ์หรือเปล่า อาหารนั้นจะเป็นของส่วนกลางหรือเป็นของพระรูปที่เราใส่บาตร รวมถึงเป็นเรื่องยากที่เราจะทำจิตใจให้รู้สึกว่าถวายเป็นสังฆทาน(ให้หมู่สงฆ์) เพราะตอนที่เราตักบาตรเพราะเรานิมนต์ทีละรูป การตักบาตรจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นทานบุคคล(ปาฏิปุคคลิกทาน)มากกว่าเป็นสังฆทาน ฉะนั้นหากอยากทำสังฆทาน ก็ควรตั้งใจทำสังฆทานอย่างเต็มรูปแบบจะดีกว่า ส่วนการตักบาตรก็เป็นสิ่งที่ได้บุญและเป็นการช่วยสืบทอดอายุพุทธศาสนา จึงเป็นสิ่งที่เราควรทำหากมีโอกาส


ถวายอะไรได้บ้าง


                นอกเหนือจากการถวายอาหาร เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ผ้าไตร เรายังสามารถถวาย ดอกไม้ ธูปเทียน หลอดไฟ แปรงสีฟัน รองเท้า ไฟฉาย พระพุทธรูป และสิ่งต่างๆที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์กับพระและวัด ซึ่งของแต่ละอย่างก็จะให้อานิสงค์ไม่เหมือนกัน(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ของแต่ละอย่างได้อานิสงค์อะไร ได้ท้ายเล่ม)

                เพียงแต่ว่าการถวายอาหารเป็นสังฆทานนั้น เราจะต้องถวายก่อนเที่ยง(หลังเที่ยงพระจะรับอาหารไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสดหรือแห้งหรือนม เพราะตามวินัยสงฆ์ พระจะเก็บสะสมอาหารไม่ได้) ส่วนน้ำปานะ เภสัชทั้ง…และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆที่ไม่ใช่อาหารสามารถถวายก่อนหรือหลังเที่ยงก็ได้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับของที่เหมาะสมจะถวายได้ท้ายเล่ม)

โดยการถวายเราไม่จำเป็นต้องซื้อถังเหลือง(หรือถังสีอะไรก็ตาม) เราไปเลือกซื้อของแต่ละอย่างที่เราต้องการถวาย และไม่จำเป็นต้องซื้อเท่าจำนวนพระที่เรานิมนต์ จะซื้อปริมาณเท่าไหร่ก็ได้(มากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าปริมาณพระก็ได้) แล้วใส่ภาชนะอะไรก็ได้ถวาย การเลือกซื้อด้วยตนเองนอกจากจะหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากของในถังไม่ได้คุณภาพแล้ว ยังทำให้เราได้บุญมากขึ้นเพราะเป็นการทำบุญด้วยความประณีต(จะอธิบายเพิ่มเติมภายหลัง)

สรุปอีกครั้งว่าจะเป็นสังฆทานหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 อย่าง


1.       พระที่รับสังฆทานเป็นตัวแทนของหมู่สงฆ์

2.       ของที่ถวายจะต้องตกเป็นของส่วนกลางก่อน ไม่ถวายเจาะจงพระรูปใดเป็นพิเศษ

3.       จิตใจของผู้ถวายจะต้องไม่ยึดติดกับพระรูปใดเป็นพิเศษ(ทั้งชอบหรือไม่ชอบ) คิดถวายให้โดยรวม

ขอบคุณข้อมูลจาก nutpobtum