สำรวจเงินโบนัสสิ้นปี!! แต่ละบริษัทในประเทศไทย ที่ไหนให้เท่าไหร่กันบ้าง...มาดูเลย!

พอใกล้จะถึงสิ้นปีทีไร พนักงานบริษัททั้งภาครัฐและเอกชนมักจะรอคอย เงินโบนัสประจำปี เป็นเงินก้อนโตที่เป็นรางวัลชีวิตที่เราเหนื่อยมาทั้งปี โดยจากการสำรวจการปรับค่าจ้างและโบนัส ปี 2559 ของสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ปี 59 สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะมีการจ่ายโบนัสเฉลี่ยประมาณ 1.87 เดือน และ ปี 60 จะมีการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 4.17%

ผลการสำรวจ โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 535 แห่ง จำแนกเป็น 12 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ดังนี้ คลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์,คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องปรับอากาศ, คลัสเตอร์ปิโตรเคมี, คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม, คลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, คลัสเตอร์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์, คลัสเตอร์ยางและไม้ยางพารา, คลัสเตอร์ยานยต์/ชิ้นส่วน, คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง, คลัสเตอร์วิศวกรรมเครื่องจักรกลและงานโลหะ, คลัสเตอร์อาหาร และคลัสเตอร์อื่น ๆ




สถานประกอบการทั้งหมด 535 แห่ง ประกอบด้วยขนาดเล็ก 116 แห่ง คิดเป็น 21.68%, ขนาดกลาง 159 แห่ง คิดเป็น 29.72% และขนาดใหญ่ 260 แห่ง คิดเป็น 48.60% และเมื่อจำแนกตามพื้นที่ตั้งจะพบว่า อยู่ในภาคกลาง 311 แห่ง คิดเป็น 58.13%, ภาคตะวันออก 186 แห่ง คิดเป็น 34.77%, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 แห่ง คิดเป็น 0.93%, ภาคเหนือ 8 แห่ง คิดเป็น 1.50% และภาคใต้ 25 แห่ง คิดเป็น 4.67%

สถานประกอบการขนาดใหญ่มีการปรับค่าจ้างสูงสุด เนื่องจากสถานประกอบการขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีการปรับค่าจ้าง 5% จึงทำให้มีการปรับค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุด คือ 4.49% ในขณะที่สถานประกอบการขนาดเล็กมีการปรับค่าจ้างต่ำสุด เนื่องจากสถานประกอบการขนาดเล็ก ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีการปรับค่าจ้าง 2.5 – 4% จึงทำให้มีการปรับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุด คือ 3.73%




สถานประกอบการขนาดใหญ่มีการจ่ายโบนัสสูงสุด เนื่องจากสถานกระกอบการขนาดใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีการจ่ายโบนัส 2 เดือน จึงทำให้มีการจ่ายโบนัสเฉลี่ยสูงสุด คือ 2.48 เดือน ในขณะที่สถานประกอบการขนาดเล็กมีการจ่ายโบนัสต่ำสุด เนื่องจากมีการสถานประกอบการขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีการจ่ายโบนัส 1 เดือน จึงทำให้มีการจ่ายโบนัสเฉลี่ยต่ำสุด คือ 1 เดือน

จากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ให้ข้อมูลโครงสร้างและความต้องการกำลังคนทั้งสิ้น 256 แห่ง ประกอบด้วย ต้องการเพิ่มกำลังคน 118 แห่ง คิดเป็น 46.09% และไม่ต้องการเพิ่มกำลังคน 138 แห่ง คิดเป็น 53.91% ซึ่งสถานประกอบการที่ให้ข้อมูล มีกำลังคนในปัจจุบันทั้งหมด 215,693 คน จำแนกเป็น ระดับต่ำกว่าม.6 จำนวน 107,362 คน คิดเป็น 49.78%, ระดับปวช./ปวส. จำนวน 79,534 คน คิดเป็น 36.87% และระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 28,797 คน คิดเป็น 13.35% โดยมีความต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้น ในปีถัดไป 9,661 คน คิดเป็น 4.48% จำแนกเป็นระดับต่ำกว่าม.6 จำนวน 6,091 คน คิดเป็น 2.82%, ระดับปวช./ปวส. จำนวน 2,374 คน คิดเป็น 1.10% และระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 1,196 คน คิดเป็น 0.56%




โดยจะขอยกตัวอย่างจากบริษัทใหญ่ๆ มาให้ดูดังนี้...

- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จ่ายโบนัส 7.5 เดือน โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด และมีเงินพิเศษช่วงสงกรานต์อีกรายละ 18,000 บาท

- ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จ่ายโบนัสที่ 6.9 เดือน แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด พร้อมเงินพิเศษอีก 10,000 บาท

- ส่วนบริษัทในส่วนการบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายโบนัส 7.5 เดือน

- บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบางกอกแอร์เวย์ จ่ายโบนัสงวดแรกไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา 1 เดือน และกำลังพิจารณาโบนัสงวดที่ 2



 - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จ่ายโบนัสงวดแรก 1 เดือน ในเดือน ธ.ค. นี้ และจะพิจารณาอีกในเดือนมี.ค.

- ธนาคารกรุงเทพจ่ายโบนัสปีละ 2 งวด งวดละ 1 เดือน

- ส่วนกลุ่มอื่นๆ ไปรษณีย์ไทย จ่ายโบนัส 1 เดือน

- การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้โบนัสในอัตรา 5 เดือน และอาจได้เพิ่มอีกเดือนหนึ่งหากผ่านการประเมินจากกระทรวงการคลัง

เป็นที่น่าอิจฉาจริงๆ สำหรับบริษัทใหญ่ๆที่ ปีนี้ผลประกอบการดี จึงทำให้มีการจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานเป็นเงินก้อนโต ไว้ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจากที่ยกตัวอย่างมานั้นอาจจะมีผลคาดเคลื่อนเนื่องจากเป็นแค่ผลสำรวจเท่านั้น

เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.com, ขอขอบคุณที่มาจาก : HUMAN REVOLUTION