ใครปลูกอยู่โชคดีมาก! สะเดา ประโยชน์หลากหลาย ใบ ลำต้น ดอก ปลูกไว้ไม่เสียแรง อย่ามองข้าม!

สะเดา (neem) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ที่เจริญเติบโตได้เร็ว เป็นไม้ที่มีประโยชน์ในหลายด้าน ปัจจุบันนิยมปลูกเพื่อจำหน่ายดอก บริโภคดอก และเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้สำหรับการแปรรูป

สะเดาสามารถเจริญเติบโตได้ทุกในสภาพดิน ลำต้นมีลักษณะตรง เปลือกหนาสีน้ำตาลหรือสีเทาปนดำ แตกสะเก็ดออกเป็นร่องตื้นๆ จะแตกใบเป็นพุ่มสีเขียวตลอดหลายเดือน ใบจะผลิร่วง และออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม โดยจะแตกยอดอ่อนออกมาก่อน และตามด้วยช่อดอกสีขาวตามปลายยอด และบริเวณตามตามกิ่งแขนง ส่วนผลจะมีลักษณะคล้ายผลองุ่นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่เป็นผลสุกจะออกสีเหลืองอ่อนอมเขียวเล็กน้อย

การปลูกสะเดาเพื่อใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้สำหรับการแปรรูป ควรเลือกพันธุ์สะเดาที่นิยมเก็บดอกมาจำหน่ายหรือนำมารับประทานได้ด้วย ซึ่งจะได้ทั้งสองด้าน คือ เก็บดอกจำหน่ายในแต่ละปี และตัดทำไม้แปรรูปเมื่อต้นมีอายุมาก



การปลูกสะเดาเพื่อให้ได้ดอกที่นิยมบริโภคควรปลูกจากต้นพันธุ์ที่เพาะจากเมล็ดเท่านั้น เพื่อให้ต้นสามารถเติบโต และนำไม้มาแปรรูปได้ ซึ่งหากปลูกด้วยต้นกล้าที่ได้จากการตอนกิ่งจะทำให้ต้นเติบโตเตี้ย ขนาดลำต้น และความสูงสำหรับแปรรูปไม้จะไม่ได้ ส่วนการปลูกเพื่อรับประทานดอกเป็นหลักเพียงไม่กี่ต้น อาจใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการตอนหรือการเสียบกิ่งก็ได้

สำหรับพันธุ์สะเดาที่นิยมปลูกเพื่อจำหน่าย และรับประทานดอก ได้แก่ สะเดาพันธุ์ขาวผ่อง

ประโยชน์จากสะเดา
1. การบริโภคดอก
ปัจจุบันนี้ ดอกสะเดาเป็นที่นิยมนำมารับประทานกันมากในทุกๆภาค โดยนิยมรับประทานยอดใบอ่อน และดอกอ่อนที่เริ่มแทงออกหลังการผลิใบ โดยเฉพาะพันธุ์ที่ให้รสขมน้อย และมีรสอมหวานเล็กน้อย

การรับประทานสามารถรับประทานได้ทั้งดิบ และสด โดยเฉพาะนิยมนำมารับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในอาหารเพื่อให้มีรสขมเล็กน้อย โดยสะเดาจะออกดอกให้รับประทานกันในเดือนมกราคม-มีนาคม แต่ปัจจุบันมีจำหน่ายตั้งแต่เดือนกันยายน-มีนาคม เนื่องจากมีบางพันธุ์ที่สามารถทำให้ออกดอกก่อนฤดูได้ เช่น พันธุ์ทะวายขาวผ่อง



2. ประโยชน์จากลำต้น และเนื้อไม้
– ประโยชน์จากลำต้น โดยเฉพาะลำต้นที่มีอายุไม่มาก 2-5 ปี ขนาดลำต้น 3-6 นิ้ว สามารถตัดฟันมาทำเสาโรงเรือน เสาล้อมรั้ว ซึ่งจะใช้ประโยชน์ของลำต้นทั้งต้น
– ประโยชน์จากเนื้อไม้ เป็นการใช้ประโยชน์จากนำไม้มาแปรรูปใช้ประโยชน์ มักใช้ไม้สะเดาที่มีอายุมาก 5 ปี ขึ้นไป ขนาดลำต้น 6 นิ้ว ขึ้นไป เพราะไม้สะเดาที่มีอายุมากจะให้เนื้อไม้คล้ายต้นมะฮอกกานีแต่จะสีอ่อนกว่า มักมีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล เนื้อไม้แน่น มีความแข็งแรงมาก นิยมนำมาแปรรูปเป็นไม้ฝาหรือประตูบ้าน ไม่วงกบ และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ

3. การสกัดน้ำมัน
น้ำหมันที่สกัดได้จากสะเดาจะสกัดจากส่วนของเมล็ด ซึ่งจะได้น้ำมันประมาณ 40% ของน้ำหนักเมล็ด เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเชื้อเพลิง หรือน้ำมันหล่อลื่น

4. อุตสาหกรรมเคมี
เนื่องจากเปลือกของสะเดามีสารบางชนิดที่ให้รสฝาด และน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรค เครื่องสำอาง และการทำสบู่ รวมถึงส่วนผสมในยากำจัดศัตรูพืช

5. การป้องกัน และกำจัดศัตรูพืช
ใช้สกัดสารสำหรับเป็นส่วนผสมของยาป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช สารเหล่านี้ ได้แก่ azadiracthin deacetylazadirachtiuol และnimbidin เป็นต้น สารเหล่านี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต และการลอกคราบของแมลง และเชื้อราบางชนิดได้ แต่วิธีที่ง่าย และเป็นที่นิยมสำหรับเกษตร ไทย คือ การนำใบหรือเมล็ดสะเดามาต้มน้ำ และใช้น้ำต้มสะเดาที่ได้นำมารดพืชผักในแปลง

6. สมุนไพร
คนโบราณ และตำรายาสมุนไพรในปัจจุบันกล่าวถึงประโยชน์ของสะเดาในด้านสมุนไพรไว้ ดังนี้
– เปลือก และราก ต้มน้ำใช้รับประทานช่วยเจริญอาหาร และลดไข้
– เปลือก ราก และใบใช้บดผสมน้ำประคบแผล ช่วยในการฆ่าเชื้อ และสมานแผล แก้โรคผิวหนัง
– ใบ ใช้ต้มรับประทานลดไข้ ลดเบาหวาน
– ผล ใช้รับประทานเป็นยาถ่าย แก้ริดสีดวง และปัสสาวะขัด

7. การทำปุ๋ย
ใบ และเมล็ดสะเดาที่ร่วงตามพื้น สามารถกองรวบกันนำมาหมักทำปุ๋ยหรือโรยในแปลงเกษตรเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุ และธาตุอาหารให้แก่ดิน

การปลูก
การเพาะขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์สำหรับการปลูกเพื่อประโยชน์รับประทานดอก และการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ จะขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเท่านั้น เพราะสามารถทำให้ต้นเติบโตสูงให้เนื้อไม้ได้ ร่วมกับการเก็บดอกจำหน่าย

พันธุ์ที่ใช้ปลูกควรเป็นพันธุ์ที่ให้ดอกดก ก้านดอกใหญ่ ปริมาณดอกมาก ด้วยการคัดเลือกเมล็ดที่แก่สุกแล้วนำมาขยำแยกเปลือกออก และนำไปตากแห้ง

การเพาะจะใช้เมล็ดแห้งที่ตากประมาณ 1-2 อาทิตย์ เมล็ดมีลักษณะสีขาว เมล็ด 1 กก. จะมีเมล็ดประมาณ 3500-4000 เมล็ด โดยการเพาะในถุงเพาะชำหรือหว่านเพาะเมล็ดในแปลง หลังการเพาะเมล็ด เมล็ดจะงอกใน 5-7 วัน



การเตรียมแปลงปลูก
การเตรียมแปลงปลูกสำหรับพื้นที่แปลงขนาดใหญ่จะทำการไถพรวนดิน และตากดิน 1รอบ นาน 2-4 อาทิตย์ ซึ่งควรไถแปลงในช่วงฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน โดยกะระยะให้สามารถปลูกได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และก่อนปลูกควรไถพรวนแปลงอีกรอบ และตากดินนาน 3-5 วัน

สำหรับการปลูกคามคันนาหรือหัวไร่ปลายนา มักไม่จำเป็นต้องเตรียมแปลงอะไรให้ยุ่งยาก เพียงแต่ต้องกำจัดวัชพืชบริเวณที่ต้องการปลูก และขุดหลุมเตรียมไว้เท่านั้น สำหรับระยะห่างระหว่างต้นควรปลูกประมาณ 4 เมตร ขึ้นไป

วิธีการปลูก
– ต้นกล้าสำหรับปลูกที่ได้จากการเพาะควรมีอายุ 3-5 เดือน ความสูงของต้นประมาณ 20-30 ซม.
– วางแนวปลูก และขุดหลุมในระยะระหว่างหลุม 2-4 เมตร ระยะระหว่างแถว 4-8 เมตร แนะนำที่ 4×6-8 เมตร เพื่อให้ต้นสะเดาเจริญเติบโตได้ดี
– การวางแนวปลูกตามแนวยาว ควรให้ขนานกับแนวของดวงอาทิตย์ในทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อให้ต้นสะเดาสามารถรับแสงได้อย่างทั่วถึง เพราะการวางแนวในทิศตัดขวางกับดวงอาทิตย์จะทำให้เกิดร่มเงาบดบังแสงกัน

การดูแลรักษา
การดูแลไม้สะเดาหลังการปลูกจะไม่ยุงยากมากนัก เนื่องจากสามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ไม้สะเดาที่ปลูกในช่วงฤดูฝนจะสามารถเติบโตได้ดีจนถึงฤดูในปีถัดไปได้

สำหรับสิ่งที่ต้องปฏิบัติหลังการปลูก คือ การกำจัดวัชพืชซึ่งควรทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ด้วยการไถพรวนดินตามช่องว่างระหว่างแนวปลูก และการทำแนวกันไฟรอบพื้นที่ปลูก

การนำมาใช้ประโยชน์
– การเก็บดอกจำหน่ายหรือรับประทาน จะสามารถเก็บได้ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของทุกปี แต่บางสายพันธุ์สามารกระตุ้นให้ออกดอกก่อนได้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม
– การนำต้นมาใช้ประโยชน์ สามารถตัดต้นที่มีขนาดเล็ก 3-6 นิ้ว หรือมีอายุประมาณ 2-5 ปี สำหรับทำไม้เสา ไม้ค้ำยัน เป็นต้น
– การใช้ประโยชน์สำหรับไม้แปรรูป จะตัดฟันเมื่อต้นสะเดามีอายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป ปกติจะใช้เวลานาน 10-20 ปี เพื่อให้ได้ลำต้นใหญ่ เนื้อไม้แน่น และไม้มีลวดลาย

ที่มา puechkaset.com