7 เทคนิคที่ต้องรู้ ! ก่อนปลูกผักสวนครัว

เปลี่ยนข้อผิดพลาดของมือใหม่ที่เคยทำในการปลูกผักสวนครัว ด้วยเทคนิคที่ต้องรู้ก่อนลงมือปลูกผัก เพื่อผลที่งอกงามตามความต้องการ

ความกว้างขว้างของพื้นที่หน้าบ้านดลบันดาลให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ อยากลองทำโน้นนั่นนี่ เต็มไปหมด แต่การปลูกผักสวนครัวน่าจะเป็นคำตอบที่ง่าย ประหยัด และเพื่อประโยชน์อีกมากมาย ซึ่งบางครั้งสิ่งที่คิดก็ไม่ได้ออกมาตามความตั้งใจสักเท่าไรเลยสำหรับมือใหม่หัดปลูก ดังนั้นกระปุกดอทคอมจึงนำเอาสิ่งที่ควรรู้ก่อนการเริ่มต้นมาฝากกัน ไปดูเลยว่าควรวางแผนอะไรก่อนบ้าง



1. ปลูกน้อยชนิด เพิ่มผลผลิตให้มาก

ก่อนจะออกไปซื้อเมล็ดพันธ์ต้องคิดให้ดีก่อนว่าครอบครัวของเรานั้นเน้นรับประทานผักชนิดใด ใช้เสียงส่วนใหญ่เลือก ถ้าบ้านไหนเข้าขั้นมังสวิรัติ รายชื่อผักต้องมาเป็นหางว่าวแน่เลย อย่าค่ะ ! ตัดทอนออกให้เหลือแค่ 2-3 ชนิดที่จำเป็นเท่านั้น และเพิ่มจำนวนในการปลูกแต่ละชนิดให้ได้ผลมาก แต่ถ้าคุณเน้นหลากหลายชนิด ก็ต้องเตรียมรับมือกับการดูแลที่หลากหลายวิธีไปด้วย จะพาให้ตายกันหมด

2. อย่าปลูกเยอะจนเกินไป

การปลูกผักสวนครัวไม่ได้จำกัดว่าจะต้องลงพื้นดินเท่านั้น คนที่อยู่คอนโด อพาร์ทเม้นท์ หรือบ้านพื้นที่น้อย ก็เล่นสนุกกับการปลูกผักได้ในแปลงกระบะพลาสติก ก็อีกเช่นเคยถึงแม้จะปลูกน้อยชนิด แต่ในข้อนี้ต้องจำกัดจำนวน และแบ่งพื้นที่แต่ละให้เหมาะสมด้วย พืชคงไม่สามารถเอื้อน้ำและอาหารให้กันและกันได้อย่างเรา เบียดกันไปมาสุดท้ายก็ต้องเหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลาอยู่ดี

3. จัดตารางรดน้ำให้ดีเชียว

ไหน ๆ ก็ลงมือปลูกมาแล้ว ก็อย่าปล่อยให้เสียเปล่า มาวางแผนรดน้ำต้นไม้กันดีกว่า เพราะถ้าหากไม่ทำแบบนี้คุณก็จะผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย จนผักที่ปลูกต้องเฉาตาย และทริคง่าย ๆ กับการจ่ายบิลค่าน้ำแบบคล่องมือ คือหาถังขนาดใหญ่ไปรองน้ำฝนที่ท่อรางน้ำฝน เพื่อเก็บไว้รดน้ำต้นไม้ในฤดูอื่นด้วย แค่นี้ก็คุ้มเกินคุ้ม



4. ปลูกข้ามฤดู เพื่อกินอยู่สบาย

อย่าเพิ่งดีใจไปว่าผักสวนครัวทุกชนิดจะปลูกข้ามฤดูกาลได้หมด เป็นบางชนิดเท่านั้นแหละ อย่างผักประจำฤดูฝน (กลางพฤษภาคม-กลางตุลาคม) ก็ปลูกในช่วงต้นหนาว (กลางตุลาคม-กลางกุมภาพันธ์) ได้เหมือนกัน เช่น กะหล่ำปลี บล็อกโคลี หอมใหญ่ มะเขือเทศ เป็นต้น ต้องตระเตรียมเมล็ดพันธุ์กันให้ดี เพื่อให้มีผลผลิตไว้กินข้ามฤดูกันเลย

5. รั้วล้อมผักที่รัก

อีกหนึ่งอุปสรรคที่จัดการได้ไม่ยากสำหรับการปลูกผัก เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่น่ารักชอบทั้งหลาย มักจะเข้ามาทำลายและกัดกินพืชผักที่เราปลูกไว้จนเสียหาย ทำให้เรายืนอยู่ในระดับกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันไป อย่าคิดทำบาปเลยเพราะแค่ล้อมรั้วผักไว้ เจ้าสัตว์จอมกินไม่เลือกก็จะเข้ามาทำลายผักสด ๆ ของเราไม่ได้แล้ว

6. จดบันทึกลงลึกเรื่องปรับปรุง

ดูเหมือนจะให้ย้อนวันวานกลับไปเป็นเด็กนักเรียน ที่ต้องจดบันทึกการปลูกเขียวให้ได้ถั่วงอก เทคนิควิชาการแบบนี้ก็ยังนำมาใช้ในชีวิตจริงได้เสมอ การเก็บรวมข้อมูลการปลูกพืชผักทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ช่วงเวลา ชนิด วิธีการปลูก การเจริญเติบโต หรือจำนวนผลผลิต ทำให้เราได้บทเรียนไม่ว่าจะถูกหรือผิด แล้วนำมาปรับปรุงเพื่อสวนครัวที่สมบูรณ์แบบ



7. ปลูกตอนนี้ได้กินตามฤดู

ช่วงระยะเวลาก็สำคัญเช่นกันนะ พืชคุ้นหน้าคุ้นตาอย่าง กวางตุ้ง คะน้า สะระแหน่ โหระพา กะเพรา ตำลึง กระชาย ข่า ตะไคร้ พริกขี้หนู ฯลฯ สามารถปลูกยืนพื้นได้ตลอดทั้งปี แต่สำหรับบางชนิดนั้น อยู่ ๆ จะให้มาลงดินฝังเมล็ดเพื่อหวังกินเลยคงไม่ได้แน่นอน ต้องรู้ซะก่อนว่าพืชตามแต่ละฤดูกาลมีอะไรบ้าง ให้เขาได้งอกงามตามสภาพอากาศที่ชอบ จากนั้นบวกลบระยะเวลาของการผลิดอกออกผลให้ไปตรงกับฤดูของพืชนั้น ๆ แล้วเราก็จะรู้ว่าควรลงมือปลูกตอนไหน ให้กินได้ตามฤดูและสภาพอากาศ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ดังนี้

- ฤดูร้อน ต้องสรรหาพืชที่ทนต่อความร้อนแห้งแล้งได้อย่าง บวบ มะระ ผักกาดหอม ผักกาดขาว ผักชี ถั่วฝักยาว น้ำเต้า ฟักทอง ถั่วพู ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน

- ฤดูฝน (ช่วงต้น) ควรปลูกผักกาดเขียว กวางตุ้ง ผักบุ้ง พริก มะเขือ ผักกาดหอม บวบ มะระ แตงกวา น้ำเต้า กระเจี้ยบเขียว

- ฤดูฝน (ช่วงปลาย) พืชที่ควรปลูกในช่วงปลายฝนต้นหนาวได้แก่ กะหล่ำปลี ถั่วลันเตา หอมใหญ่ แครอท พริกหยวก มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย

- ฤดูหนาว ต้องปลูก ผักกาดขาว ถั่วพู ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักกาดหอม มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ ตั้งโอ๋ บล็อกโคลี แครอท เป็นต้น

ทั้งเซฟเงินในกระเป๋าและที่สำคัญร่างกายก็ยังได้รับสารอาหารจากผักที่เราปลูกเองแบบเต็มที่อีกด้วย แล้วจะรอช้าอยู่ทำไมไปวางแผนจัดสวนตามนี้กันเลยดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก kapook.com